“เฟด” ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย “พาวเวลล์” ยังเชื่อเศรษฐกิจ “ซอฟต์แลนดิ้ง”

เฟด
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ตามคาด หรือเป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกัน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 5-5.25% สูงที่สุดนับจากเดือนสิงหาคม 2007

ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนและตลาดส่วนใหญ่ที่ว่าการขึ้นครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อพิจารณาจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวเพียง 1.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของคณะกรรมการถึงแม้จะแข็งกร้าวน้อยลง แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย และการจะตัดสินใจอย่างไรในอนาคตขึ้นกับข้อมูลในขณะนั้นเป็นสำคัญ

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการเห็นว่าเงินเฟ้อจะยังไม่ปรับลงมาเร็วนัก คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นคงยังไม่เหมาะสมที่จะลดดอกเบี้ย จำเป็นต้องให้ควาต้องการและตลาดแรงงานอ่อนตัวลงอีก เพื่อให้ตลาดที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยลดความร้อนแรงลงจึงจะพิจารณาลดดอกเบี้ย ส่วนคำถามที่ว่าในครั้งนี้เฟดมาถึงจุดที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยหรือยังนั้น ไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างมั่นใจเพราะเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาใหญ่ แต่ตนคิดว่าเฟดเข้าใกล้หรือแม้กระทั่งมาถึงจุดนั้นแล้ว

ประธานเฟดระบุว่า สัญญาณการอ่อนตัวลงของตลาดแรงงานบ่งบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะสามารถ “ซอฟต์แลนดิ้ง” เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่านโยบายที่ใช้อยู่สามารถทำให้ตลาดแรงงานอ่อนตัวลงโดยที่ไม่ก่อให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นมากนัก

“การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างงานชะลอลงในระดับที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ผมคิดว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้”

ส่วนปัญหาวิกฤตธนาคารนั้น ประธานเฟดระบุว่า สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะทำให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจได้รับสินเชื่อยากขึ้น เพราะธนาคารต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้ ซึ่งมีแนวโน้มจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงานและเงินเฟ้อ ส่วนผลกระทบจะอยู่ในระดับใด ยังไม่สามารถระบุได้

ไมเคิล กาเพน นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟ อเมริกา ระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจในมือของเฟดในขณะนี้เป็นเหตุผลสำคัญต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้มากกว่าปัญหาวิกฤตธนาคารในสหรัฐ อย่างไรก็ตามคิดว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยมาถึงอัตราสุดท้ายของวงจรนโยบายการเงินตึงตัวแล้ว แต่ก็ต้องหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า ยังต้องรอดูข้อมูลการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อก่อนการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 14 มิถุนายนด้วย หากวิกฤตธนาคารมีเสถียรภาพ ตลาดแรงงานยังตึงตัว และเงินเฟ้อ ยังสูง อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นได้

แอนดรูว์ ฮันเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ว่า หลังจากใช้นโยบายการเงินตึงตัวในระดับที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มาถึงตอนนี้เฟดเต็มใจจะถอยหลังออกมาและประเมินความเสียหาย อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงเปิดประตูให้กับการใช้นโยบายตึงตัวในอนาคตหากสถานการณ์บังคับ

เอียน เชฟเพิร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ แพนธีออน แมโครอีโคโนมิกส์ กล่าวว่า คาดว่าข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อก่อนการประชุมเฟดในเดือนมิถุนายนจะออกมาในลักษณะที่ว่าเศรษฐกิจอ่อนแออย่างมากและแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ดังนั้นจึงคิดว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่ทั้งนี้ก็ต้องหมายเหตุด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐอาจจะไปถึงจุดวิกฤตในช่วงที่เฟดประชุมใเดือนมิถุนายนและตลาดจะเกิดความปั่นป่วน ซึ่งจะเป็นเหตุผลผลักดันให้เฟดไม่เคลื่อนไหวในทางใดทางหนึ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย แต่คิดว่าเฟดจะเริ่มผ่อนคลายในกันยายนหรือพฤศจิกายน


โทมัส ไซมอนส์ นักเศรษฐศาสตร์ของเจฟเฟอรีส์ ชี้ว่า ถ้อยแถลงของคณะกรรมการเปิดประตูให้กับการขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่หากฟังโทนเสียงของประธานเฟดบ่งชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยมาถึงอัตราสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้จะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของพลังที่จะมาเติมเชื้อให้กับเงินเฟ้อในอนาคต