กองทุนตราสารหนี้พลิกเงินไหลเข้า เทรนด์ดอกเบี้ยเฟดใกล้พีก

ตราสารหนี้

จากทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐที่คาดว่าน่าจะเดินทางมาถึงจุดสูงสุด (พีก) แล้ว ทำให้กองทุนตราสารหนี้โลก (Global bond) กลับมาได้รับความสนใจและมีเงินไหลเข้าอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา หลังจากช่วงก่อนหน้านี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนตราสารหนี้โลกกลับมาได้รับความสนใจและมีเงินไหลเข้าสุทธิอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องราว 2 ปี

“ช่วงไตรมาส 1 กองทุนตราสารหนี้โลกกลับมาเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดของกลุ่มการลงทุนต่างประเทศที่ไม่รวม (term fund) ที่มูลค่า 14,000 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหรือในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด 15,000 ล้านบาท และในภาพรวมทั้งปี 2565 เป็นทิศทางของเงินที่ไหลออกต่อเนื่องสุทธิรวม 22,048 ล้านบาท”

ทั้งนี้ กองทุน Global bond ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 4 อันดับแรก ในช่วงไตรมาส 1 ได้แก่ กองทุน United Global Income Strategic Bond N (UGIS-N) จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี เงินไหลเข้าสุทธิ 3,200 ล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คือ TMB Global Income จาก บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2,900 ล้านบาท

ถัดมากองทุน MFC US Aggregate Bond-A จาก บลจ.เอ็มเอฟซี ที่เป็นกองทุนเปิดใหม่ในเดือน ก.พ. 2566 มีเงินเข้าลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท และกองทุน Krungsri Global Collective Smart Income จาก บลจ.กรุงศรี เงินไหลเข้า 1,600 ล้านบาท

“ชญานี” กล่าวว่า กองทุน Global bond ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีถึงล่าสุด (YTD) อยู่ที่ 0.73% (ข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย. 66) โดยสูงสุดอันดับแรกมาจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ ได้แก่ กองทุน ONE-GLOBHY-I และกองทุน ONE-GLOBHY-R ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.23% และ 4.14%

ตามด้วยกองทุน UDB-A จาก บลจ.ยูโอบี 2.98% กองทุน KKP G-UBOND-H จาก บลจ.เกียรตินาคินภัทร 2.95% และกองทุน SCBGSIF (SSFE)จาก บลจ.ไทยพาณิชย์ 2.32% (ดูตาราง)

ตาราง กองทุน

“นักลงทุนเห็นถึงโอกาสและใช้จังหวะนี้ในการทยอยเข้าซื้อกองทุนประเภทตราสารหนี้ เพื่อถือเก็บไว้ในระยะยาว หลังจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับสูง หลายฝ่ายเชื่อว่าดอกเบี้ยน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดของรอบนี้ ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดแล้ว ก็เป็นโอกาสดีสำหรับการเข้าลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาในกองทุนค่อนข้างสูง”

ขณะที่ “ชยนนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงในปีนี้ หลังจากที่ปรับขึ้นรุนแรงในปีที่ผ่านมา

ซึ่งในทุกครั้งที่ดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นจะกดดันให้ผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้ปรับลด ฉะนั้นเมื่อมองว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว คนก็ใช้จังหวะนี้ในการเข้าซื้อเพราะบางคนก็ติดลบในกลุ่มนี้มาเป็นปี แต่ว่าปัญหาคือดอกเบี้ยก็ยังคงขึ้นอยู่ทั้ง 2 ครั้ง ในการประชุมตั้งแต่ต้นปีของเฟด ทำให้เห็นว่านักลงทุนเข้าไปซื้อจริง แต่ราคา NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมยังคงไม่ Bottom (จุดต่ำสุด)

“เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง หรือถ้ามีเซอร์ไพรส์ก็อาจจะขึ้นอีกครั้งในเดือน มิ.ย.ก็น่าจะจบ แน่นอนว่ากองทุนตราสารหนี้จะได้ประโยชน์ ดังนั้นใครที่เชื่อว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็สามารถเข้ามาสะสมได้ แต่ต้องลงทุนระยะยาวเวลา 1-3 ปี”

ฟาก “ยิ่งยง เจียรวุฑฒิ” รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะใกล้ถึงจุดพีก หรือขึ้นได้ไม่มากแล้ว ซึ่งจะไม่กดดันราคาตราสารหนี้เหมือนเมื่อช่วงก่อน และสิ่งที่จะได้คือดอกเบี้ยปัจจุบันที่ค่อนข้างสูงก็เป็นอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ที่น่าสนใจ เพราะโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อมีน้อยลง

“ถ้าหากเฟดไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงและค้างอัตราดอกเบี้ยไว้แบบนี้สักระยะหนึ่ง การเก็บเกี่ยวยีลด์ที่อยู่ในระดับสูงตราสารหนี้โลกคุณภาพดี จึงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจมากขึ้น หากใครที่ถือกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ยิ่งควรจะถือต่อ

แต่หากใครไม่ได้ถืออยู่ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพียงแต่ว่าการลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศทุกกองทุนอาจจะมีข้อเสียจุดหนึ่ง คือต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงด้วยอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง ฉะนั้นผลตอบแทนที่เห็นอาจไม่ได้สูงมาก เวลาที่ตีกลับมาเป็นเงินบาท แต่ก็ไม่ได้แย่” ยิ่งยงกล่าว

ดูแล้วจังหวะนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้