IMF ปรับคาดการณ์ เศรษฐกิจอังกฤษไม่ถดถอย แต่ยังซึม เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงสำคัญ

IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษ
AFP / Odd ANDERSEN

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ปีนี้จะโต 0.4% ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่คาดก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังชะลอตัวกว่าปีที่แล้วมาก และปัญหาเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบหนัก

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรพร้อมให้คำแนะนำในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังต่อผู้กำหนดนโยบายว่า คาดว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย และรักษาการเติบโตได้ในปี 2566 เนื่องด้วยอุปสงค์ภายในประเทศที่มีความสามารถในการฟื้นตัว (resilient) ในบริบทที่ราคาพลังงานลดลง 

IMF คาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2566 จะชะลอตัวลงเหลือโต 0.4% เป็นการอัพเกรดขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ -0.3% 

ถึงอย่างนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรก็ชะลอตัวลงอย่างมากจากปีที่แล้ว และอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงอย่างไม่มีทีท่าจะลด 

“นโยบายการเงินยังจะต้องเข้มงวดต่อไปเพื่อคงระดับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เอาไว้อย่างดี และทำให้อัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมาย ในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ นโยบายการคลังควรสอดคล้องไปกับนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องปกป้องบริการสาธารณะที่สำคัญ ๆ และผู้เปราะบาง” IMF แนะนำ 

IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษ
AFP / Justin TALLIS


IMF บอกว่า ระบบการเงินของสหราชอาณาจักรสามารถรับมือกับความตึงเครียดที่เกิดในภาคธนาคารทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เป็นอย่างดี การกำกับดูแลที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในภาคการธนาคาร รวมถึงธนาคารขนาดเล็กและภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของสหราชอาณาจักร ซึ่ง IMF มองว่าเป็น “สินค้าสาธารณะของโลก” (global public good) 

IMF แนะว่า การตระหนักถึงศักยภาพการเติบโตอย่างเต็มที่ของสหราชอาณาจักรนั้นจะต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง ต้องมีการปฏิรูปตามข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงจัดการกับการเพิ่มขึ้นของคนวัยแรงงานที่ไม่ทำงานที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลังโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเจ็บป่วยระยะยาว, การขจัดอุปสรรคในการลงทุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายและกฎระเบียบ, ส่งเสริมการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายด้านการทรานสฟอร์มเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

แนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงของสหราชอาณาจักรในระยะข้างหน้า IMF บอกว่า แม้ว่าแนวโน้มจะมีการปรับปรุงดีขึ้นบ้างในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF คาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2566 จะชะลอตัวลงเหลือโต 0.4% โดยจะถูกดึงรั้งจากนโยบายการเงินและการคลังที่เข้มงวด และผลกระทบที่ยืดเยื้อจากภาวะช็อกด้านอัตราการค้า (terms-of-trade) 

IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษ
AFP / Daniel LEAL


คาดว่าการเติบโตจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2%ในปี 2568 และ 2569 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการผ่อนคลายเงื่อนไขทางการเงินและการคลัง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น หลังจากนั้น คาดว่าการเติบโตคาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% 

ส่วนภาวะเงินเฟ้อ IMF คาดว่าราคาพลังงานที่ลดลงและความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ หรือการที่ผู้คนในวงกว้างมีเงินน้อยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมาก เหลือประมาณ 5% (YOY) ภายในสิ้นปี 2566 และต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ภายในกลางปี ​​2568 

ในด้านความเสี่ยง IMF เตือนว่า ความเสี่ยงมีมากในระยะข้างหน้า ความเสี่ยงที่สำคัญในระยะใกล้ถึงระยะกลางคือ การที่ราคาสินค้าและค่าจ้างยังคงสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงยืดเยื้อเป็นเวลานาน ซึ่งหาก upside risk ต่ออัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นจริง อุปสรรค (headwind) ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้นโยบายการจัดการอุปสงค์ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ และ/หรืออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับราคาสินทรัพย์ทางการเงินระยะยาวใหม่ รวมถึงเกิดการส่งผลกระทบทางอ้อม (spillover) ในด้านลบของภาคเศรษฐกิจและการเงิน (macro-finance) 

นอกจากนั้น ยังมี downside risk คือภาวะการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อและความต้องการซื้อของคู่ค้า ผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจะขยายใหญ่ขึ้น หากวิกฤตในภาคการเงินที่เกิดในประเทศอื่นแพร่กระจายไปยังภาคการเงินของสหราชอาณาจักร และ/หรือหากเกิดกระแสตอบรับที่ไม่พึงประสงค์ในภาคเศรษฐกิจและการเงิน