อังกฤษประกาศหนุนอุตสาหกรรมชิป 1,000 ล้านปอนด์ เอกชนวิจารณ์งบน้อย จะไปสู้ใครได้

อังกฤษหนุนอุตสาหกรรมชิป
ริชี ซูแน็ก นายรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร / Stefan Rousseau / POOL / AFP

อังกฤษประกาศหนุนอุตสาหกรรมชิป 1,000 ล้านปอนด์ ภาคธุรกิจวิจารณ์งบสนับสนุนน้อยเกินไป ไม่มีเพียงพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ช่วยให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สหราชอาณาจักรประกาศจะสนับสนุนเงิน 1,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาาร์สหรัฐ หรือประมาณ 42,737 ล้านบาท) ให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของประเทศที่ใช้เวลารอคอยมานาน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคธุรกิจทันทีว่าเป็นวงเงินสนับสนุนที่น้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง 

ผู้ผลิตชิปทั่วโลกทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาโรงงานใหม่หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาไต้หวันและจีน

แผนของรัฐบาลอังกฤษ ถูกบดบังรัศมีโดยการอุดหนุนของรัฐบาลสหรัฐที่ทุ่มงบมากถึง 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหภาพยุโรปที่สนับสนุน 43,000 ล้านยูโร (ประมาณ 47,000 ล้านดอลลาร์) 

อย่างไรก็ตาม แผนสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปของอังกฤษมุ่งเน้นไปในด้านที่อังกฤษเองมีความเป็นเลิศ (ซึ่งอาจไม่ต้องใช้งบสูงเหมือนโรงงานผลิต) นั่นคือ “การออกแบบเซมิคอนดักเตอร์” 

ภายใต้แผนใหม่นี้ รัฐบาลอังกฤษพร้อมมอบเงินสนับสนุนการลงทุนประมาณ 200 ล้านปอนด์ในปี 2566-2568 และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านปอนด์ในช่วงทศวรรษหน้า แม้ว่าตอนนี้การสนับสนุนจะมุ่งเน้นไปที่การวิจัยและการออกแบบ แต่รัฐบาลอังกฤษกล่าวว่าจะเริ่มสนับสนุนการลงทุนด้านการผลิตชิปด้วยในปลายปีนี้

Advertisment

 ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า การทำสิ่งนี้จะช่วยให้อังกฤษมีความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก 

ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมแม้จะยินดีกับการประกาศยุทธศาสตร์ด้านนี้ของรัฐบาล แต่พวกเขาก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงขนาดของเงินสนับสนุนว่า “น้อยเกินไป” 

Advertisment

Graphcore (กราฟคอร์) บริษัทผู้ออกแบบชิป AI กล่าวว่า เป็นงบสนับสนุนที่ “เจียมเนื้อเจียมตัว” เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมนี 

ขณะที่ Paragraf (พารากราฟ) ผู้นำในการผลิตกราฟีนพูดถึงงบสนับสนุนนี้ว่า “อ่อนเปลี้ย” 

ไซมอน โธมัส (Simon Thomas) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Paragraf พูดถึงการให้เงินทุนของสหราชอาณาจักรว่า เป็นความผิดพลาดในการปัดเศษเงินในอุตสาหกรรมนี้ 

นักวิเคราะห์ของ Citi อธิบายว่าการสนับสนุนแบบโฟกัสนั้น “สมเหตุสมผล” แต่วงเงินนั้น “น้อยเกินกว่าที่จะสร้างนัยสำคัญใด ๆ” สำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมที่สำคัญนี้ 

บรรดาผู้นำธุรกิจในอังกฤษวิพากษ์วิจารณ์กลยุทธ์ของรัฐบาลมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พวกเขาบอกว่าต้องการให้รัฐร่วมสนับสนุนในทุกเรื่อง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการฝึกทักษะและการลงทุน ในช่วงที่พวกเขากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตยุคหลังคาร์บอน     

รายงานจากสภานิติบัญญัติของอังกฤษเมื่อปีที่แล้วระบุว่า การที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอังกฤษขาดห่วงโซ่อุปทานแบบ end-to-end ครบวงจร ทำให้อังกฤษต้องเผชิญกับการหยุดชะงักของการจัดหาซัพลลายชิปมากเป็นพิเศษในอนาคต เช่น หากเกิดเหตุการณ์ที่จีนจะบุกไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์เซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก 

ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้โอกาสนี้ประกาศความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์กับรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย 

ตามรายงานของ Reuters ไม่ได้ระบุว่าความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรกับญี่ปุ่นครอบคลุมอะไรบ้าง แต่บอกข้อมูลว่า อังกฤษนั้นเป็นที่ตั้งของบริษัท Arm ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเทคโนโลยีโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนเกือบทุกรุ่น โดยขายทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบริษัทต่าง ๆ เช่น Apple และ Qualcomm 

บริษัท Arm ถูกขายให้กับบริษัท SoftBank ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2559 ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอังกฤษปล่อยให้นักลงทุนต่างชาติซื้อความสำเร็จด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่สุด และขณะนี้ SoftBank วางแผนที่จะนำ Arm เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา