เศรษฐกิจอังกฤษยังแย่ ไตรมาสแรก 2566 โต 0.1% ไม่ถดถอย แต่ยังไม่ฟื้นดี

เศรษฐกิจอังกฤษ
ภาพโดย Peter Nicholls/ REUTERS

เศรษฐกิจอังกฤษไตรมาสแรกปี 2566 โตได้ 0.1% ไม่ติดลบหรือก้าวเท้าเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ยังน่ากังวล การฟื้นตัวยังไม่ดี เป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศร่ำรวยที่ยังไม่ฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics: ONS) ของสหราชอาณาจักร แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สหราชอาณาจักรไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโต 0.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2565 (QOQ) ที่โต 0.1% 

แม้ว่าภาพรวมสามเดือน จีดีพียังโตได้เล็กน้อย แต่เมื่อแยกดูรายละเอียดเป็นรายเดือน จีดีพีเดือนมกราคม 2566 โต 0.5% จีดีพีเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไม่เติบโต กล่าวคืออัตราการเติบโตอยู่ที่ 0.0% ส่วนในเดือนมีนาคม 2566 จีดีพีหดตัวลง 0.3% 

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้สหราชอาณาจักรไม่ก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (หดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน) ตามที่มีความกังวลและคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ แต่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังเดินอยู่บนเส้นทางที่ยากลำบาก ถ้าดูจีดีพีรายเดือน จะเห็นได้ว่ามีการถดถอยในระดับสถิติรายเดือน และอนาคตข้างหน้าก็ยังไม่สู้ดี เพราะยังเผชิญหลายปัจจัยลบ 

ตามคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) สหราชอาณาจักรจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในกลุ่ม G20 โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะหดตัว 0.3% ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวได้ 1% ในปีหน้า 

สำนักข่าว Reuters รายงานในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจของ Reuters คาดการณ์ถูกต้องว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะอยู่ที่ 0.1% แต่คาดผิดว่าจีดีพีในเดือนมีนาคมจะคงที่ แต่ตัวเลขจริงที่ออกมากลับหดตัวลงอย่างผิดคาด 0.3% 

แดร์เรน มอร์แกน (Darren Morgan) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่กดดันให้จีดีพีในเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงคือการหดตัวลงของจีดีพีภาคบริการ 

นอกจากนั้น ยอดขายรถยนต์ก็ยังต่ำตามมาตรฐานที่เป็นมานับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาดโควิด-19 ขณะที่คลังสินค้า การกระจายสินค้า และการค้าปลีกยังคงมีเดือนที่ย่ำแย่ 

ONS บอกอีกว่า การดำเนินงานภาคอุตสาหกรรมในวงกว้างก็ยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ด้วย 

เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังคงมีขนาดเล็กกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 (ก่อนโควิด) อยู่ 0.5% ซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ (G7) ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 

เศรษฐกิจอังกฤษ ไตรมาสแรก 2566
REUTERS/ Henry Nicholls

ทอม สตีเวนสัน (Tom Stevenson) ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนส่วนบุคคลของบริษัทจัดการการลงทุน Fidelity International กล่าวว่า ภาคบริการซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและราคาสินค้าที่สูงขึ้น และมันยังคงเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก

“ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงเป็นเลข 2 หลัก มันให้ความรู้สึกหดหู่เหมือนกับภาวะ stagflation ในทศวรรษที่ 1970 กลับมาอีกครั้ง” 

เยล เซลฟิน (Yael Selfin) นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทตรวจสอบบัญชี KPMG กล่าวว่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอในเดือนมีนาคมตอกย้ำถึงความเปราะบาง แม้ว่าราคาขายส่งพลังงานจะลดลง เงื่อนไขของห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้นแล้ว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปีแล้วก็ตาม  

เธอบอกว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นสูงแล้ว แต่ความเปราะบางที่เกิดจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและการเข้มงวดในการให้สินเชื่อยิ่งขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและกิจกรรมการจับจ่ายของภาคครัวเรือนในปีนี้

เจเรมี ฮันต์ (Jeremy Hunt) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรกล่าวหลังจากเห็นข้อมูลจีดีพีว่า รัฐบาลจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การใช้นโยบายภาษีที่แข่งขันได้ การจัดหาแรงงาน และผลิตภาพ 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 10% ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนด้วย อีกทั้งยังต้องดิ้นรนกับตลาดแรงงานที่ตึงตัว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และผลกระทบหลัง Brexit ซึ่งเป็นผลกระทบที่ประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ไม่ต้องเผชิญ 

Bank of England ธนาคารกลางของสหราชอาณาจักรขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่อัตรา 4.25% เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 และคาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรทั้งปีจะเติบโต 0.25% ซึ่งเป็นการเติบโตที่อ่อนแอ แต่ก็เป็นการยกระดับดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัว 0.5%