อังกฤษเข้า CPTPP แล้ว รัฐบาลหวังประโยชน์ แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดกลับ EU ยากขึ้น

อังกฤษ CPTPP
REUTERS/ Henry Nicholls/ File Photo

ประเทศสมาชิก CPTPP รับสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกแล้ว หลังเจรจากันเกือบ 2 ปี รัฐบาลอังกฤษหวังประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะทำให้ยากในการประสานเพื่อกลับเข้าเป็นสมาชิกอียูในอนาคต 

วันที่ 31 มีนาคม 2566 ประเทศสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Tran-Pacific Partnership : CPTPP) ซึ่งมีจำนวน 11 ประเทศ ได้ลงมติรับสหราชอาณาจักร (UK) เข้าเป็นสมาชิกแล้ว หลังจากการเจรจากันเกือบ 2 ปี 

The Guardian รายงานว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันข้อตกลงการค้าทั่วโลกของสหราชอาณาจักร หลังถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งการเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้ผู้ส่งออกในสหราชอาณาจักรสามารถเข้าถึงตลาด CPTPP ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน 

ทั้งนี้ CPTPP มีสมาชิกก่อตั้ง 11 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน ส่วนสหราชอาณาจักร คาดว่าจะให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ 

รัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ภายใต้ CPTPP ซึ่งจะลดอัตราภาษีสำหรับการส่งออกอาหาร เครื่องดื่ม และรถยนต์ ภายในกลุ่มสมาชิก จะสร้างรายได้ให้สหราชอาณาจักรเพิ่มเติม 1,800 ล้านปอนด์ หลังจากเป็นสมาชิกแล้ว 10 ปี ซึ่งจะคิดเป็นประมาณ 0.08% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร 

ด้านสหภาพแรงงานออกมาประณามข้อตกลงภายใต้ CPTPP ที่จะอนุญาตให้บริษัทขนาดใหญ่ฟ้องรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ หากบริษัทเชื่อว่าผลกำไรของพวกเขาได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือข้อบังคับของรัฐ 

พอล โนวัก (Paul Nowak) เลขาธิการทั่วไปของ Trades Union Congress หรือสหภาพแรงงานแห่งชาติของอังกฤษ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ทำให้บริษัทข้ามชาติสามารถฟ้องรัฐบาลสหราชอาณาจักรในศาลลับได้ ถ้าบริษัทเห็นว่าการออกนโยบายของรัฐคุกคามผลกำไรของพวกเขา ซึ่งอาจรวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือการนำบริษัทพลังงานกลับคืนสู่การเป็นของสาธารณะ 

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกรายแรกของ CPTPP ที่ไม่ใช่สมาชิกก่อตั้ง และคาดว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นต้นแบบของประเทศอื่น ๆ ที่สมัครเข้าร่วม รวมถึงคอสตาริกาและอุรุกวัย 

ส่วนจีนซึ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกในปี 2564 หลายเดือนหลังสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากสมาชิก รวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งจะโต้แย้งว่าจีนควรถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม เว้นแต่จีนจะปฏิบัติตามกฎการค้าระหว่างประเทศ 

ริชี ซูแน็ค (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า “หัวใจของเราคือการเป็นประเทศที่เปิดกว้างและการค้าเสรี และข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของเสรีภาพหลัง Brexit ของเรา” 

เคมิ บาเดนอช (Kemi Badenoch) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวสะท้อนถึง “เสรีภาพหลัง Brexit เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ทั่วโลก และทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโต” 

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรก็มีข้อตกลงทวิภาคีกับหลายประเทศสมาชิก CPTPP รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ซึ่งถ้าบวกลบกันจริง ๆ ก็นับว่าประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP ไม่ได้มากเท่าที่ประเมิน เพราะถึงแม้ไม่ได้เข้าร่วม CPTPP สหราชอาณาจักรก็ได้ประโยชน์จากข้อตกลงทวิภาคีอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม บรรดารัฐมนตรีของอังกฤษคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เนื่องจาก CPTPP ซึ่งมีจีดีพีรวมกันสูงถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์ เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้าถึงประเทศต่าง ๆ มากขึ้น 

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบางคนมองว่า การเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP จะส่งผลเสียต่อความสามารถของสหราชอาณาจักรในการกลับเข้าร่วมสหภาพยุโรปในภายหลัง โดยให้เหตุผลว่าการประสานกฎการค้าของสหราชอาณาจักรเข้ากับกลุ่มประเทศ CPTPP จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารอียูกับรัฐบาลอังกฤษ 

แซม โลเว (Sam Lowe) ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Flint Global กล่าวว่า การเป็นสมาชิก CPTPP ทำให้สหราชอาณาจักรกลับเข้าร่วมสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป (EU Customs Union) ได้ยากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าสหราชอาณาจักรจะเข้าร่วม CPTPP โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอย่างมีนัยสำคัญนักจากกฎระเบียบเดิมที่สืบทอดมาจากสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าแนวทางการกำกับดูแลของสหภาพยุโรปและ CPTPP นั้นเข้ากันได้

สำหรับประเด็นข้อตกลงที่อนุญาตให้ศาลลับควบคุมข้อพิพาททางการค้าระหว่างสมาชิก CPTPP และสหราชอาณาจักร คาดว่าจะจุดชนวนการประท้วงคล้ายกับที่ช่วยขัดขวางการเจรจาการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาในปี 2559