อังกฤษวิกฤต เงินเฟ้อกุมภาฯ 66 เพิ่มขึ้นอีกในรอบ 4 เดือน ราคาอาหารพุ่งแรงสุดใน 45 ปี

เงินเฟ้ออังกฤษ กุมภา 66
REUTERS/ Hannah McKay

เงินเฟ้ออังกฤษเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 10.4% เพิ่มขึ้นอีกอย่างไม่คาดคิดในรอบ 4 เดือน หลังจากที่ชะลอลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงมกราคมที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักที่หนุนให้เงินเฟ้อดีดกลับขึ้นไปอีกคือราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่พุ่งขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 45 ปี

วันที่ 22 มีนาคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร (Office for national Statistics) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 10.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (MOM) ซึ่งอยู่ที่ 10.1%

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดในรอบ 4 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษสูงสุดที่ 11.1% ในเดือนตุลาคม 2565 แล้วชะลอลงที่อัตรา 10.7% (พฤศจิกายน), 10.5% (ธันวาคม) และ 10.1% (มกราคม)

ปัจจัยหลักที่หนุนให้อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งกลับขึ้นไปอีกคือ ราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 45 ปี โดยราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 18% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2520

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานอยู่ที่ 6.2% ซึ่งก็ยังเป็นอัตราที่เร่งขึ้นจาก 5.8% ในเดือนมกราคม (MOM)

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงไปสู่เลขหลักเดียว

ค่าเงินปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากมีรายงานตัวเลขเงินเฟ้อออกมา ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดข้อถกเถียงว่า Bank of England (BoE) ธนาคารกลางสหราชอาณาจักรต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ เช่นกันกับที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางสหรัฐเผชิญคำถามนี้ เมื่อเกิดปัญหาในภาคธนาคารขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคมนี้ ผู้กำหนดนโยบายการเงินของ BoE ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างแรงกดดันด้านราคาที่แข็งแกร่งขึ้น กับต้นทุนการกู้ยืมเงินที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษซึ่งกำลังปั่นป่วนตลาดการเงิน

“ในช่วงไม่กี่วันมานี้ บางคนแนะนำว่าสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดในภาคการธนาคารน่าจะทำให้ธนาคารกลางหยุดคิดก่อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่ข้อมูลวันนี้แสดงให้เห็นไปในทางตรงกันข้าม งานของธนาคารกลางอังกฤษยังไม่เสร็จสิ้น” คิตตี้ อัชเชอร์ (Kitty Ussher) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Institute of Directors แสดงความเห็น

เหล่าเทรดเดอร์คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจำเป็นต้องก้าวร้าวมากขึ้นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดเงินเพิ่มการเดิมพันว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์นี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 4.57% ในเดือนสิงหาคมที่จะถึง

แดน แฮนสัน (Dan Hanson) จาก Bloomberg Economics คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นอย่างเหนือคาดของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อภาคบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้าย เนื่องจากสภาวะตึงตัวในตลาดการเงินเมื่อเร็ว ๆ นี้ น่าจะทำให้ดีมานด์ลดลงในไตรมาสต่อ ๆ ไป 

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (BoE) และสำนักงบประมาณสหราชอาณาจักร (Office for Budget Responsibility : OBR) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างรวดเร็วในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ราคาพลังงานเพิ่มสูง โดย BOE และ OBR คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีนี้จะอยู่ที่ 9.7%

แต่ตัวเลขเงินเฟ้อออกมาแล้วสองเดือนยังเป็นเลขสองหลัก จึงน่าจะเป็นไปได้ยากที่อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกจะจบลงที่ตัวเลขตามคาด

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเดียวใน G-7 ที่อัตราเงินเฟ้อยังคงติดอยู่ในเลขสองหลัก และยังรั้งท้ายเป็นประเทศเดียวที่การเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19


เจเรมี ฮันต์ (Jeremy Hunt) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สหราชอาณาจักร กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงความยากลำบากของครัวเรือนทั่วประเทศ ดังนั้น ในขณะที่พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รัฐบาลจะช่วยเหลือภาคครัวเรือนด้วยการสนับสนุนค่าครองชีพเฉลี่ย 3,300 ปอนด์ต่อครัวเรือนในปีนี้