อังกฤษออกกฎคุม BNPL สกัด “หนี้ครัวเรือน” บวม

อังกฤษ

ธุรกิจ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (buy now, pay later) หรือ BNPL ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้คนจำนวนมากถูกดึงดูดใจในการซื้อสินค้าด้วยบริการผ่อนชำระแบบปลอดดอกเบี้ย แต่ใช้โมเดลการคิดค่าธรรมเนียม กลายเป็นการสร้างภาระหนี้เกินตัวที่หลายคนไม่มีความสามารถชำระคืน

บีบีซีรายงานว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักร (ยูเค) เตรียมออกกฎหมายควบคุมธุรกิจบีเอ็นพีแอลภายในประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 10 ล้านคน ที่ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้คืนได้จากบริการผ่อนชำระสินค้าที่ไร้ข้อจำกัด ทำให้เกิดการก่อหนี้ทางอื่นเพิ่มเติมเพื่อนำมาชำระหนี้บีเอ็นพีแอล เป็นวงจรหนี้ไม่รู้จบ และกลายเป็นวิกฤตการเงินสำหรับผู้บริโภค

ภายใต้กฎใหม่ดังกล่าว “หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน” หรือ FCA ของอังกฤษ จะมีอำนาจในการเอาผิดผู้ให้บริการบีเอ็นพีแอลที่ไม่ตรวจสอบความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้อย่างเพียงพอ โดยสามารถเรียกค่าปรับหรือระงับการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมของผู้ให้บริการรายนั้นได้

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบีเอ็นพีแอลยังจะต้องได้รับการอนุญาตจากเอฟซีเอ และยังจะมีการตรวจสอบการโฆษณาบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการแจ้งรายละเอียดการผ่อนชำระสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจน และยังเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนผู้ให้บริการผ่านหน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดินทางการเงิน (Financial Ombudsman Service) ได้ทันที โดยกฎหมายใหม่นี้คาดว่ามีผลบังคับใช้ในสิ้นปี 2023

“แมตทิว อัปตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ “ซิติเซนส์ แอดไวซ์” องค์กรอิสระด้านการดูแลผู้บริโภคในยูเค ระบุว่า “บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังในปัจจุบันเป็นเหมือนทรายดูดที่หลุดเข้าไปง่ายแต่ออกมายากมาก จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมอย่างรวดเร็ว เพราะทุก ๆ วันที่ไม่มีกฎระเบียบ ก็จะเป็นอีกวันที่ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครอง”

ในเดือน ก.พ.นี้ เอฟซีเอได้ส่งหนังสือถึง 4 ผู้ให้บริการบีเอ็นพีแอลใหญ่ในยูเค คือ เคลียร์เพย์ (Clearpay) คลาร์นา (Klarna) เลย์บาย (Laybuy) และโอเพ่นเพย์ (Openpay) เพื่อให้ปรับเปลี่ยนสัญญาผ่อนชำระที่เป็นอันตรายทางการเงินต่อลูกค้า

ทั้งนี้ ธุรกิจบีเอ็นพีแอลในยูเคเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 โดยมีปริมาณเงินกู้สูงถึง 2,700 ล้านปอนด์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปีก่อนหน้า ขณะที่ดิอินดีเพนเดนต์รายงานว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาวอังกฤษซื้อสินค้า โดยใช้บริการ BNPL ถึง 12% ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด อะโดบี อะนาไลติกส์

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ปัจจุบันธุรกิจบีเอ็นพีแอลไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเอฟซีเอ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในข่ายของสถาบันทางการเงิน และยังมีลักษณะต่างจากสินเชื่อทั่วไป เนื่องจากเป็นการผ่อนชำระแบบปลอดดอกเบี้ย หากผู้กู้ยังสามารถชำระเงินคืนได้ตรงเวลา แต่จะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับหากผิดนัดชำระ

ซิติเซนส์ แอดไวซ์ สำรวจพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้ใช้บริการ BNPL ในอังกฤษ จำนวน 2,288 คน พบว่า 52% ระบุว่านำเงินจากบัญชีกระแสรายวันของตนเองออกมาชำระหนี้ ขณะที่ 23% รูดบัตรเครดิตเพื่อใช้หนี้ อีก 9% ใช้วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี และ 7% ยืมเงินจากเพื่อนหรือครอบครัว สะท้อนว่าผู้บริโภคเกือบ 50% ที่เข้าสู่วงจรการก่อหนี้แบบไม่สิ้นสุด

“ริชาร์ด เลน” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายนอกของ “สเต็ปเชนจ์” องค์กรการกุศลด้านหนี้สินในยูเค ระบุว่า “เรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากการวิจัยของเราชี้ให้เห็นถึงการข้ามเส้นระหว่างการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง และความยากลำบากทางการเงิน โดยหลายคนต้องกู้ยืมหรือใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินคืน”