IMF ลดคาดการณ์จีดีพีโลก คาดเยอรมนี-อังกฤษเศรษฐกิจหดตัว แนะคงดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ

IMF ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลก
AFP/ Daniel LEAL

IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.8% คาดเยอรมนีและสหราชอาณาจักรเศรษฐกิจจะหดตัว แนะนำธนาคารกลางคงดอกเบี้ยสูงสู้เงินเฟ้อต่อไป แม้มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในภาคการเงิน

วันที่ 11 เมษายน 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เผยแพร่รายงาน World Economic Outlook ฉบับใหม่ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเล็กน้อย เหลือ 2.8% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม 2566 คาดว่าจะโต 2.9% ส่วนในปีหน้า IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 3.0% ปรับลดจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะโต 3.1% 

IMF ให้เหตุผลที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลงว่า เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางแห่ง รวมถึงคาดว่าจะมีการเข้มงวดทางการเงินเพิ่มเติมอีกเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงอย่างยืดเยื้อ (persistent inflation) 

Reuters รายงานว่า IMF กล่าวในรายงาน World Economic Outlook ฉบับใหม่นี้ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาลุกลามในระบบธนาคาร (contagion risk) ถูกควบคุมโดยการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดหลังจากความล้มเหลวของธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐ และการบังคับควบรวมกิจการของ Credit Suisse (กับ UBS) แต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในภาคธนาคาร ได้เพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลงง่าย ๆ และผลกระทบทางอ้อมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“ด้วยความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมีหมอกหนาขึ้น” IMF กล่าว ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) เปิดการประชุมฤดูใบไม้ผลิร่วมกับ IMF ในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

“ความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง และความสมดุลของความเสี่ยงได้เปลี่ยนไปสู่ขาลงอย่างมั่นคงมาเป็นเวลานาน ในขณะที่ภาคการเงินยังไม่สงบ”

IMF มองแนวโน้มสหรัฐดีขึ้นเล็กน้อยจากคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือนมกราคม โดยคาดการณ์การเติบโตในปี 2566 ที่ 1.6% ปรับเพิ่มจาก 1.4% ที่คาดการณ์ในเดือนมกราคม เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง 

แต่ IMF ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของประเทศเศรษฐกิจหลักบางประเทศในปีนี้ รวมถึงเยอรมนี ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 0.1% และญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโต 1.3% ปรับลดลงจากที่คาดไว้ 1.8% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม

สหราชอาณาจักร เป็นประเทศที่ IMF คาดว่าสภาวะเศรษฐกิจปีนี้จะเลวร้ายที่สุดในบรรดา 20 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หรือกลุ่ม G20 ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะแย่กว่าเศรษฐกิจรัสเซียที่โดนคว่ำบาตรด้วย โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะหดตัว 0.3% ในปีนี้ และจะขยายตัวได้ 1% ในปีหน้า 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อ IMF ปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ปี 2566 เป็น 5.1% เพิ่มจากที่คาดการณ์ 4.5% ในเดือนมกราคม โดยให้เหตุผลว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศยังไม่ถึงจุดสูงสุด แม้ว่าราคาพลังงานและอาหารจะลดลง (ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง) ก็ตาม 

“คำแนะนำของเราคือ นโยบายการเงินต้องยังคงมุ่งเน้นที่การลดอัตราเงินเฟ้อต่อไป” ปิแอร์-โอลิเวียร์ กูรินชาส์ (Pierre-Olivier Gourinchas) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าว 

ในการให้สัมภาษณ์กับ Reuters กูรินชาส์กล่าวว่า ธนาคารกลางไม่ควรให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งดูจะมีความเสี่ยงอยู่มาก มาเป็นเหตุผลให้หยุดการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เปิดเผยว่า IMF คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะต่ำกว่า 3% และจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อไปอีกในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความเสี่ยงด้านลบมีมากขึ้น

ตัวเลขการเติบโตระยะ 5 ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะโตไม่เกิน 3% เป็นคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกระยะกลางที่ต่ำที่สุดเท่าที่ IMF เคยคาดการณ์นับตั้งแต่ปี 2533 และต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ย 3.8% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

จอร์เจียวาย้ำประเด็นที่เคยพูดมาแล้วหลายครั้งว่า การแยกส่วนทางเทคโนโลยีอาจทำให้บางประเทศประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 12% ของจีดีพี และเธอเรียกร้องให้ธนาคารกลางยังคงอยู่ในแนวทางการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ตราบใดที่แรงกดดันทางการเงินยังคงมีจำกัด แต่ให้จัดการกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินด้วยการจัดหาสภาพคล่องอย่างเหมาะสม