IMF เตือนอีกรอบ เศรษฐกิจโลกปีนี้โตต่ำกว่า 3% และโตไม่เกิน 3% ไปอีก 5 ปี

IMF คาดเศรษฐกิจ
REUTERS/ Brendan McDermid/ File Photo

ผวาอีกรอบ เมื่อ IMF บอกอีกครั้งว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโตต่ำกว่า 3% และในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะโตไม่เกิน 3% เนื่องจากความเสี่ยงด้านลบมีมากขึ้น 

สำนักข่าว Reuters รายงานจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นว่า คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เปิดเผยว่า IMF คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะต่ำกว่า 3% และจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อไปอีกในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความเสี่ยงด้านลบมีมากขึ้น 

ตัวเลขการเติบโตระยะ 5 ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะโตไม่เกิน 3% เป็นคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกระยะกลางที่ต่ำที่สุดเท่าที่ IMF เคยคาดการณ์นับตั้งแต่ปี 2533 และต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ย 3.8% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

จอร์เจียวากล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่แข็งแกร่งเพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา ได้ป้องกันผลลัพธ์ไม่ให้เลวร้ายมาก แต่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจก็ยังคงอ่อนแอ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง ความล้มเหลวของธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผผยให้เห็นความเปราะบางในระบบการเงินที่เพิ่มความเสี่ยงด้านลบ (downside risk) ให้กับเศรษฐกิจโลก 

“แม้ว่าตลาดแรงงาน [สหรัฐ] จะยืดหยุ่น-ทานทนอย่างน่าประหลาดใจ และอุปสงค์การบริโภคก็แข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้น แต่เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตน้อยกว่า 3% ในปีนี้” กรรมการผู้จัดการ IMF กล่าว

“การเติบโตยังคงอ่อนแอเป็นประวัติการณ์ ทั้งในขณะนี้ และในอนาคตระยะกลาง”  

“ด้วยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งที่ยังคงเข้าใจยาก และนั่นเป็นอันตรายต่อโอกาสของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เปราะบางที่สุดและประเทศที่เปราะบางที่สุด”

ในปี 2565 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.4% ลดลงเกือบครึ่งจากปี 2564 ที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ด้วยอัตราการเติบโต 6.1% 

จอร์เจียวากล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียและจีนจะมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2566 แต่ประมาณ 90% ของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นอัตราการเติบโตลดลงในปีนี้ 

ประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และการส่งออกลดลง การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่  

กรรมการผู้จัดการเรียกร้องให้ธนาคารกลางยังคงอยู่ในแนวทางการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ตราบที่แรงกดดันทางการเงินยังคงมีจำกัด แต่ให้จัดการกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดหาสภาพคล่องอย่างเหมาะสม

 เธอกล่าวว่า ความล้มเหลวของธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เปิดเผยถึงความล้มเหลวในการบริหารความเสี่ยงของธนาคารบางแห่ง และการกำกับดูแลที่ผิดพลาด 

“กุญแจสำคัญคือการติดตามความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทั้งในธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมถึงจุดอ่อนในภาคต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์” เธอกล่าวเสริม 

“ความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ตอนนี้เราเห็นความเสี่ยงบางอย่างในภาคการเงินเปิดเผยออกมามากขึ้น”

จอร์เจียว่าบอกว่า เธอมีความมั่นใจเต็มร้อยว่าธนาคารกลางและสถาบันที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีความระมัดระวังอย่างมาก ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายได้ตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในภาคธนาคารและการเงิน แต่ความกังวลเกี่ยวกับช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นยังคงมีอยู่ทั้งในภาคธนาคาร และภาคส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร 

เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจและผลิตภาพ เธอเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนสำคัญ ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายด้านพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการแตกแยกกกระจายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจลดค่าใช้จ่าย-ต้นทุนของทั่วโลกได้มากถึง 7% ของจีดีพี 

และเธอยังย้ำประเด็นที่เคยพูดมาแล้วหลายครั้งว่า การแยกส่วนทางเทคโนโลยีอาจทำให้บางประเทศประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 12% ของจีดีพี