IMF มองเศรษฐกิจเอเชียฟื้นดี แต่มีความท้าทายรออยู่ และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อ

เศรษฐกิจเอเชีย เศรษฐกิจจีน
REUTERS/ Tingshu Wang

IMF มองมรสุมเศรษฐกิจเอเชียกำลังผ่านไป แต่ยังมีความท้าทายอีกมากมาย เตือนให้ระวังเงินเฟ้อระลอกใหม่ที่อาจเกิดจากการเปิดประเทศของจีน รวมถึงภาวะปัจจุบันที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ลด แนะธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ตามเวลาประเทศไทย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก มีเนื้อหาว่า อุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เอเชียและแปซิฟิกต้องเผชิญในปีที่แล้วเริ่มจางหายไปแล้ว ภาวะตึงตัวทางการเงินทั่วโลกผ่อนคลายลง ราคาน้ำมันและอาหารลดลง และเศรษฐกิจจีนก็กำลังฟื้นตัว 

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ที่พัฒนาดีขึ้นกำลังช่วยปรับปรุงโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคให้ดีขึ้นกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดย IMF คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในปีนี้จะเร่งขึ้นเป็น 4.7% จากที่โต 3.8% ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้เป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดแบบที่ภูมิภาคหลักอื่น ๆ ของโลกเทียบไม่ติด และเป็นจุดที่มีแสงสว่างท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว 

 

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะโตได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตได้ดีกว่าภาพรวม และจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยคาดว่าจะโต 5.3%

เฉพาะจีนกับอินเดียสองประเทศจะมีส่วนสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่าครึ่งของการเติบโตในปีนี้ และประเทศที่เหลือ เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ที่ต่างกำลังกลับสู่การเติบโตในระดับก่อนเกิดโรคระบาด จะมีส่วนสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกประมาณ 25% ของทั้งหมด 

IMF บอกอีกว่า ความเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลต่อการปรับปรุงแก้ไขคาดการณ์มากที่สุดนับตั้งแต่ที่ IMF เผยแพร่การคาดการณ์ครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม คือการที่ประเทศจีนกลับมาเปิดประเทศอย่างกะทันหันได้ปูทางไปสู่การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาดไว้ และด้วยความที่จีนมีความเชื่อมโยงด้านการค้าและการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ดังนั้น นี่จึงเป็นข่าวดีสำหรับเอเชีย เนื่องจากการค้าครึ่งหนึ่งของภูมิภาคนี้เป็นการค้ากับประเทศจีน 

ซึ่งจากการวิเคราะห์ของ IMF ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 แสดงให้เห็นว่า ทุก ๆ เปอร์เซ็นต์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศจีน ส่งผลให้จีดีพีของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเติบโตขึ้นประมาณ 0.3%  

ส่วนประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในเอเชียจะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างหลากหลาย สำหรับญี่ปุ่น แนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นจะแข็งแกร่งขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเปิดพรมแดนอีกครั้ง และการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน 

สำหรับเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน เศรษฐกิจจะโดนฉุดลง การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมจะลดน้อยลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอ่อนแอจนอาจถึงจุดต่ำสุด และวัฏจักรขาลงของสินค้าเทคโนโลยีซึ่งทำให้ราคาชิปลดลง เป็นตัวฉุดการส่งออกที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ต่อไปจนถึงสิ้นปี 

เศรษฐกิจญี่ปุ่น
REUTERS/ Issei Kato

 

เงินเฟ้อลดลง แต่ยังท้าทายธนาคารกลาง อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป 

เรื่องภาวะเงินเฟ้อ IMF บอกว่า อัตราเงินเฟ้อของเอเชียซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลเหนือเป้าหมายของธนาคารกลางในปีที่แล้ว ได้ลดลงมาอยู่ในระดับปานกลาง ขณะนี้มีสัญญาณสนับสนุนว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) จะคงที่มากกว่า และยังไม่ยอมผ่อนคลายลง แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับไปสู่เป้าหมายของธนาคารกลางในปีหน้า เนื่องจากภาวะตึงตัวทางการเงินผ่อนคลายลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงมากก็เริ่มลดลงแล้ว 

ถึงอย่างนั้น IMF ยังเตือนว่า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ธนาคารกลางจำเป็นต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังวิ่งเหนือเป้าหมาย

ทั้งนี้ ภาวะอุปทานช็อกครั้งใหญ่และการปรับโครงสร้างถาวรซึ่งเป็นผลจากโรคระบาด ทำให้การเปรียบเทียบนโยบายการเงินมีความท้าทายมากเป็นพิเศษ และมีสัญญาณที่หลากหลายเกี่ยวกับผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มความไม่แน่นอนสำหรับผู้กำหนดนโยบายการเงิน และเมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงสองด้านของภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นแล้ว เห็นว่าการเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราผลตอบแทนระยะยาวจะช่วยให้หลีกเลี่ยงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหันที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

ประการสุดท้ายในเรื่องเงินเฟ้อที่ IMF เตือนให้ระวังคือ แรงขับเคลื่อนครั้งใหม่ของเศรษฐกิจจีนอาจสร้างแรงกดดันขาขึ้นต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และบริการทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่คาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว 

“ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางควรดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง โดยย้ำความมุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคา ที่จริงแล้วอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่แสดงสัญญาณชัดเจนว่าจะกลับสู่เป้าหมาย” 

 

หนี้สินและความเสี่ยงทางการเงิน เป็นความท้าทายใหญ่

IMF เตือนอีกว่า แม้ว่าแนวโน้มระยะสั้นจะสดใสขึ้น แต่ความท้าทายที่สำคัญในระยะยาวยังคงอยู่ 

IMF บอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะกลางถูกปรับลดลง ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีน เช่นกันกับที่การเติบโตในระยะสั้นของจีนสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศที่มีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ-การค้า 

การขาดดุลการคลังในช่วงที่เกิดโรคระบาด และอัตราดอกเบี้ยของหนี้ระยะยาวที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มภาระหนี้สาธารณะของประเทศต่าง ๆ เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียประสบปัญหาหนี้สิน ภาครัฐจึงต้องดำเนินการตามแผนเพิ่มศักยภาพทางการคลัง หรือใช้มาตรการรัดเข็มขัดต่อไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้แน่ใจว่านโยบายการเงินและการคลังไม่ได้ดำเนินการไปแบบมีวัตถุประสงค์สวนกันไปคนละทาง 

ประการสุดท้าย IMF แนะว่า หลายประเทศในเอเชียเผชิญกับความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น โดยมีภาระหนี้สินสูงในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และธนาคารมีความเสี่ยงสูง (ที่จะโดนผิดนัดชำระหนี้) จากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของการใช้นโยบายที่จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และการพัฒนากรอบกระบวนการแก้ปัญหาให้เข้มแข็ง