เงินเฟ้อญี่ปุ่นสูงสุดในรอบเกือบ 42 ปี BOJ ผ่อนคลายต่อ IMF หนุนยังเหมาะสม แต่ควรยืดหยุ่น

ภาวะเงินเฟ้อญี่ปุ่น
REUTERS / Issei Kato

เงินเฟ้อญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว เดือนมกราคม 4.3% สูงสุดในรอบเกือบ 42 ปี ธนาคารกลางญี่ปุ่นยืนยันว่าจะยังคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไป ด้าน IMF คอมเมนต์ว่าการใช้นโยบายผ่อนคลายในระยะปัจจุบันยังเหมาะสม แต่ควรพิจารณาเพิ่มความยืดหยุ่นของผลตอบแทนระยะยาว และระมัดระวังทางการคลัง 

วันที่ 27 มกราคม 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วประเทศ ประจำเดือนมกราคม 2566 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 4.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลาง (ที่ตั้งไว้ 2%) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 42 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2524 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 3.0% 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งได้รับแรงหนุนหลักจากค่าอาหารและเชื้อเพลิงเป็นส่วนใหญ่และกระจายไปยังสินค้าอื่น ๆ ในวงกว้าง จะทำให้ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น (BOJ) อยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่  

ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (ultraloose) ในเดือนนี้ แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในประมาณการรายไตรมาสใหม่ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ยังคงส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพของครัวเรือน 

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ (Haruhiko Kuroda) ผู้ว่าการ BOJ ซึ่งจะสิ้นสุดวาระในเดือนเมษายนนี้ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพิเศษเอาไว้จนกว่าค่าจ้างจะสูงขึ้น โดยมีเป้าหหมายจะเปลี่ยนอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากการผลักดันของต้นทุน ให้เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง 

ในเวลาใกล้ ๆ กัน วันที่ 26 มกราคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้ออกคำแนะนำต่อธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอนอยู่อย่างมาก โดยมีความเสี่ยงทั้งขาขึ้นและขาลง หากการเติบโตของค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่มากนัก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ภายในสิ้นปี 2557  

“ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในภาพรวมยังคงมีความเหมาะสม”

IMF บอกอีกว่า มีแนวโน้มที่โดดเด่นว่าเงินเฟ้อจะเป็นขาขึ้น ท่ามกลางผลผลิตที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ลดลง ดังนั้นเพื่อที่จะจัดการกับความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อได้ดีขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นควรพิจารณาเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปี ซึ่งความยืดหยุ่นดังกล่าวจะช่วยให้การเปลี่ยนนโยบายทางการเงินเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้นเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้แล้ว ในขณะเดียวกันยังจะช่วยให้นโยบายการเงินมีความคล่องตัว และในกรณีที่ต้องมีการผ่อนคลายเพิ่มเติม เช่น เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกเกิดขึ้นจริงตามคาด การเปลี่ยนแปลงการนโยบายการเงินควรสื่อสารให้ดี 

ด้านนโยบายการคลัง IMF แนะว่า ท่ามกลางภาวะต่าง ๆ อย่างการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นควรถอนการสนับสนุนนโยบายการคลังเร็วขึ้น แพ็กเกจทางการเงินขนาดใหญ่ที่นำมาใช้ในเดือนตุลาคม 2565 นั้น ทำให้พื้นที่ทางการเงินของรัฐที่มีจำกัดอยู่แล้วแคบลงอีก และแพ็กเกจดังกล่าวอาจเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องมีมาตรการตอบโต้ที่เข้มงวดขึ้น  

“ในขณะที่แรงกดดันด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลยังคงเพิ่มขึ้น การออกมาตรการการใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ ควรได้กำหนดเป้าหมายและทำควบคู่ไปกับมาตรการเพิ่มรายได้รัฐ” IMF แนะนำ 

…………………..