UN คาดเศรษฐกิจโลกปี 2566 ยังอ่อนแอ แนะรัฐดูแลผู้เปราะบาง-อย่าเข้มงวดการคลัง

UN คาดการณ์เศรษฐกิจโลก 2566
Fabrice COFFRINI / AFP

องค์การสหประชาชาติ (UN) มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะใกล้ยังมืดมนและไม่แน่นอน คาดจีดีพีโลกปี 2566 โตเพียง 1.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรียกร้องรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เลี่ยงการใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวด ซึ่งจะขัดขวางการเติบโตและส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่สุด 

วันที่ 25 มกราคม 2566 องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) เผยแพร่รายงาน “World Economic Situation and Prospects 2023” หรือ “สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2023” 

รายงานนี้ระบุว่า ผลกระทบอันต่อเนื่องรุนแรงจากหลายวิกฤตที่ผนวกกัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และท่ามกลางปัจจัยเบื้องหลังเหล่านั้น ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้ยังคงมืดมนและไม่แน่นอน คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ทั่วโลกจะชะลอตัวลงจากที่เติบโตประมาณ 3.0% ในปี 2565 ลดลงเป็นเติบโต 1.9% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา 

สำหรับปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางที่ 2.7% เนื่องจากแรงลมต้านบางส่วนจะเริ่มบรรเทาลง 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 และ 2567 ยังมีความอ่อนไหวมากต่อความเร็วและระดับความรุนแรงของการคุมเข้มทางการเงิน วิถีทางกับผลที่ตามมาของสงครามในยูเครน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเพิ่มอีก 

รายงานบอกอีกว่า ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูง การคุมเข้มทางการเงินที่รุนแรง และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 คุกคามหลายประเทศ ด้วยแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 

ภาวะการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ทำให้ภาวะความเปราะบางทางการคลังและหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาแย่ลง ธนาคารกลางกว่า 85% ทั่วโลกใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2564 เพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

ทั้งนี้ รายงานคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษที่ประมาณ 9% ในปี 2565 คาดว่าจะผ่อนคลายลงในปี 2566 แต่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 6.5% 

ด้านการฟื้นตัวของการจ้างงาน รายงานระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นการฟื้นตัวของการจ้างงานช้าลงในปี 2565 และยังคงเผชิญกับการว่างงานจำนวนมาก 

รายงานของสหประชาชาติบอกอีกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความเปราะบางของหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นการคุกคามความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งบรรลุได้ยากลำบากอยู่แล้ว ทำให้ผลกระทบเชิงลบที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันยิ่งลึกลงไปอีก 

ในปี 2565 จำนวนผู้คนที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเพิ่มเป็นเกือบ 350 ล้านคน ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจเป็นเวลานานและการเติบโตของรายได้ที่ช้า ไม่เพียงเป็นอุปสรรคในการขจัดความยากจน แต่ยังจำกัดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการลงทุน SDGs ด้วย 

“วิกฤตการณ์ในปัจจุบันกำลังทำร้ายกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดและมีชีวิตยากลำบากที่สุด ซึ่งไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเอง ประชาคมโลกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามร่วมกัน เพื่อปัดเป่าความทุกข์ทรมานของมนุษย์ และสนับสนุนอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคน” หลี่ จวินหัว (Li Junhua) รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมกล่าว 

อีกใจความสำคัญ รายงานนี้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวด ซึ่งจะขัดขวางการเติบโตและส่งผลกระทบอย่างได้สัดส่วนต่อกลุ่มเปราะบางที่สุด ส่งผลต่อความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเพศ และขัดขวางการพัฒนาคนเจเนอเรชั่นต่าง ๆ  

องค์การสหประชาชาติแนะนำให้รัฐบาลจัดสรรงบฯและจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายสาธารณะใหม่ ผ่านการแทรกแซงนโยบายโดยตรง ซึ่งจะสร้างงานและหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐจะต้องมีการเสริมสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องผ่านการให้เงินอุดหนุนแบบกำหนดเป้าหมายที่ทำเพียงชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินสด การให้ส่วนลดค่าสาธารณูปโภค และสามารถเสริมด้วยการลดภาษีการบริโภคหรือภาษีศุลกากร 

นอกจากนั้น ยังแนะนำให้รัฐลงทุนเชิงกลยุทธ์ในด้านการศึกษา สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการบรรเทาและการปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเร่งการเติบโตของผลิตภาพ (productivity) และเสริมสร้างความสามารถในการรับมือและฟื้นขึ้นจากภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  

………………………