1,050 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิกไม่มั่นคงทางอาหาร UN เรียกร้องแก้ปัญหาด่วน

ความไม่มั่นคงทางอาหารในเอเชียแปซิฟิก
ประชาชนในกรุงเทพฯ ประเทศไทย รอรับอาหารแจกฟรีในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยแพร่รายงานใหม่ ระบุว่า ปี 2564 คน 396 ล้านคน ในเอเชีย-แปซิฟิกขาดสารอาหาร กว่า 1,050 ล้านคนเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหาร และ 44.5% ของคนในภูมิภาคนี้ไม่มีกำลังซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ

วันที่ 24 มกราคม 2566 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of The United Nations: FAO) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เผยแพร่ข้อมูลจากรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Asia and the Pacific Regional Overview of Food Security and Nutrition 2022 – Urban Food Systems and Nutrition”  ที่ร่วมจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการอาหารโลก (WFP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) 

รายงานนี้เผยข้อมูลว่า ในปี 2564 ผู้คน 396 ล้านคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น) อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร และคาดว่า 1,050 ล้านคนต้องทุกข์กับการเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางหรือรุนแรง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจำนวนเกือบ 75 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิกมีภาวะแคระแกรน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนเด็กที่มีภาวะแคระแกรนทั้งหมดในโลก และเด็ก 10% อยู่ในภาวะน้ำหนักน้อยกว่าที่ควร (เมื่อเทียบกับส่วนสูง) อีกทั้ง การกินอาหารที่คุณภาพไม่ดียังทำให้จำนวนเด็กที่มีน้ำหนักเกินและอยู่ในภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 

ในเด็กโตและวัยรุ่น ภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในทุกประเทศในภูมิภาค ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (ส่วนมากเป็นประเทศยากจน) มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากที่สุดในโลก 

ส่วนในวัยผู้ใหญ่ มีภาวะโรคอ้วน 6.1% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด และจำนวนผู้มีภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ไม่มีประเทศไหนในเอเชียแปซิฟิกที่บรรลุเป้าของการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHA) ที่ตั้งเป้าว่า ภาวะโรคอ้วนในผู้ใหญ่จะต้องไม่เพิ่มขึ้น 

“ตัวเลขในรายงานฉายภาพอันโหดร้าย จำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน” หน่วยงานของสหประชาชาติบอกในข้อมูลที่เผยแพร่ 

ความไม่มั่นคงทางอาหารในเอเชียแปซิฟิก
ชาวอินเดียในกรุงนิวเดลีรอรับอาหารฟรีจากรัฐ (Photo by Prakash SINGH / AFP)

รายงานฉายภาพปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในเอเชีย-แปซิฟิกอีกว่า ดัชนีราคาอาหารของ FAO (FAO Food Price Index: FPI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีแห่งการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับสูงสุด (นับจากเกิดโรคระบาด) ในเดือนมีนาคม 2565 หลังจากนั้น ดัชนีราคาอาหารลดลงบ้าง แต่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 28% จากปี 2563  

ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สูง ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนในตลาดที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์กการสู้รบในยูเครน มีส่วนทำให้ตลาดอาหหารตึงตัว ค่านำเข้าอาหารมีแนวโน้มจะแตะระดับสูงสุดที่ 1.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ตามคาดการณ์ด้านอาหารฉบับล่าสุดที่ FAO เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2565 

การผนวกกันของปัจจัยลบเหล่านี้ ทำให้ปัญหาความหิวโหยและความยากจนรุนแรงขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลก”  

ความไม่มั่นคงทางอาหารในเอเชียแปซิฟิก
บรรยากาศตลาดอาหารในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา (Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

รายงานบอกอีกว่า สิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงคือ รายจ่ายสำหรับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในเกือบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ข้อมูลระบุชัดว่า ประชากร 1,900 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 44.5% ของประชากรในภูมิภาคนี้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ต่อสุขภาพ  

เมื่อบวกกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 และภาวะเงินเฟ้อ ดันให้ราคาอาหารที่ดีต่อสุขภาพสูงถึง 3.8 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 125 บาท ต่อวัน  

รายงานฉบับใหม่นี้บอกข้อกังวลในอนาคตว่า เมืองต่าง ๆ ในเอเชียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่า ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ประชากรสัดส่วนเกือบ 55% ของภูมิภาคนี้จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของเมือง 

การผนวกกันของปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งการเพิ่มขึ้นจำนวนการตั้งถิ่นฐานในเมืองของคนรายได้น้อย ราคาอาหารที่สูงขึ้น และความจำเป็นในการพัฒนาวาระทางอาหารของเมือง ที่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง น้ำสะอาด และการจัดการของเสีย นำมาซึ่งความท้าทายใหม่สำหรับนักวางแผนและผู้กำหนดนโยบายระดับชาติทั่วภูมิภาคแอเชียแปซิฟิก 


…………………….