
ยูเอ็นเตือนโลกเผชิญ สงครามยูเครนยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งกระทบความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก ชี้ชาติยากจนรับเคราะห์หนักสุด
วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 บีบีซีรายงานว่า นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงแสดงความกังวลว่า ผลกระทบอันยืดเยื้อจากสงครามยูเครน อาจทำให้ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลงจนกลายเป็นวิกฤตนานนับปี ซึ่งชาติยากจนจะได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางอาหารนี้มากที่สุด เนื่อ’จากราคาที่สูงขึ้น หากการส่งออกของยูเครนไม่ได้รับการฟื้นฟูสู่ระดับก่อนสงคราม
ความขัดแย้งจากสงครามยูเครน ส่งผลให้มีการตัดเสบียงจากท่าเรือยูเครน ซึ่งเคยเป็นท่าเรือส่งออกน้ำมันทานตะวัน ข้าวโพด และข้าวสาลีจำนวนมหาศาล ซึ่งทำให้แหล่งอุปทานสำคัญนี้หายไป กระทบต่อราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาอาหารโลกสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 30%
“โลกเราจะมีอาหารเพียงพอ หากเราร่วมมือกัน ถ้าเราไม่แก้ปัญหาวันนี้ เราจะเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และอาจกระทบนานนับปี ไม่มีทางออกใดที่มีประสิทธิภาพไปกว่าฟื้นการผลิตอาหารของยูเครน รวมถึงปุ๋ยจากรัสเซียเข้าสู่ตลาดโลก”
“ผลกระทบด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการเงินที่ซับซ้อนนั้นต้องการความปรารถนาดีจากทุกฝ่าย” เลขาฯยูเอ็นกล่าว
ก่อนสงครามปะทุขึ้น ทั้งรัสเซียและยูเครนมีอัตราการส่งออกข้าวสาลีถึง 30% ของทั่วโลก โดยยูเครนมียอดการส่งออกสินค้าทางการเกษตรสูงถึง 4.5 ล้านตันต่อเดือน ยูเครนถูกมองว่าเป็นตะกร้าขนมปังของโลก ทว่าการส่งออกดังกล่าวทรุดตัวฉับพลันหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวสาลีที่สูงขึ้นจากปัจจัยที่อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลีตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สหประชาชาติเผยว่า ขณะนี้มีธัญพืชประมาณ 20 ล้านตัน คงค้างสต๊อกในยูเครนจากรอบการเก็บเกี่ยวครั้งก่อน ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถระบายออกไปได้ อาจบรรเทาแรงกดดันต่อตลาดโลก
นางแอนนาเลนา แบร์บอค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “ก่อนหน้าบุกยูเครนจำนวนผู้ที่เผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารมีมากอยู่แล้ว แต่รัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก รัสเซียได้เปิดตัวสงครามธัญพืช ทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารทั่วโลก คนนับล้านกำลังถูกคุกคามด้วยความหิวโหย ไม่เพียงเฉพาะชาวยูเครนที่เจอภัยสงครามเท่านั้น แต่พลเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกานับล้านกำลังหิวโหย”
ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งร้ายแรงสุดในยุคสมัยของเรา ทั้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากคำพูดของประธานาธิบดีปูตินที่เรียกว่า “สงครามทางเลือก”