IMF มองจีนเป็นความหวังเศรษฐกิจโลก แนะโตด้วยการบริโภค เตือนความเสี่ยงทางการเงิน

IMF มองเศรษฐกิจจีน

IMF มองจีนเป็นจุดสว่างของเศรษฐกิจโลกที่หม่นหมองในปีนี้ แนะปรับสมดุลเศรษฐกิจไปเน้นการเติบโตด้วยการบริโภคภายใน เตือนความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง

สำนักข่าว Bloomberg รายงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ว่า คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เข้าร่วมงาน China Development Forum 2023 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้กล่าวถึงมุมมองเชิงบวกของเศรษฐกิจจีน รวมถึงให้คำแนะนำต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจต่อทางการจีน 

กรรมการผู้จัดการ IMF บอกว่า จีนเป็นหนึ่งใน “green shoots” (หน่อสีเขียวที่งอกขึ้นมาท่ามกลางสีแดงและสีเหลือง) กล่าวคือ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ดูดีมีอนาคตท่ามกลางภาพรวมของระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดี และเธอเรียกร้องให้จีนปรับสมดุลเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตด้วยการบริโภคภายในประเทศ 

เธอบอกว่า “การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง” ของเศรษฐกิจจีนนั้นมีความสำคัญ ไม่เพียงแต่สำหรับเศรษฐกิจจีนเอง แต่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกด้วย

“การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนนั้นหมายความว่า จีนมีส่วนร่วมประมาณ 1 ใน 3 ของการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2566 ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก” 

IMF มองเศรษฐกิจจีน
คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ IMF ในงาน China Development Forum 2023/ REUTERS/ Jing Xu

จอร์เจียวายกตัวเลขตามการคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาขึ้นมาฉายให้เห็นภาพอีกครั้ง โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะเติบโต 5.2% เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 percentage point จากปี 2565 ที่โต 3% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคการเอกชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติอีกครั้ง 

ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปีนี้ IMF มองว่า ยังคงจะอยู่ในโหมดไม่สดใส 

“ความไม่แน่นอนนั้นสูงเป็นพิเศษ รวมถึงความเสี่ยงของการกระจายตัวทางเศรษฐกิจตามภูมิศาสตร์ (geo-economic fragmentation) ซึ่งอาจหมายถึงโลกที่แตกแยกออกเป็นกลุ่มเศรษฐกิจคู่แข่ง ซึ่งเป็น ‘การแบ่งแยกที่อันตราย’ ที่จะทำให้ทุกคนยากจนลงและมีความมั่นคงน้อยลง” จอร์เจียวากล่าว พร้อมเสริมมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในระยะกลางว่ามีแนวโน้มอ่อนแอ 

จอร์เจียวาเตือนอีกว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีความจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง 

“ในช่วงเวลาที่ระดับหนี้สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก-ซึ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้กับเงินเฟ้อ-สร้างความเครียดและความเปราะบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่เห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดในภาคการธนาคารในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วบางประเทศ” 

กรรมการผู้จัดการ IMF เรียกร้องให้จีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ โดยปรับจากที่เน้นการลงทุนมุ่งไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคมากขึ้น ซึ่งเธอกล่าวว่ามีความทนทาน-ยั่งยืนกว่า พึ่งพาเงินกู้น้อยกว่า และจะช่วยจัดการกับความท้าทายด้านสภาพอากาศได้ด้วย 

เธอแนะว่า เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น ระบบการคุ้มครองทางสังคมของจีนจะต้องมีบทบาทสำคัญ โดยทำผ่านการให้ผลประโยชน์ที่สูงขึ้นสำหรับการประกันสุขภาพและประกันการว่างงาน เพื่อรองรับครัวเรือนจากแรงกระแทก ในขณะเดียวกัน การปฏิรูปที่มุ่งเน้นตลาดเพื่อยกระดับสนามแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านการศึกษา จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 

“การผสานกันของผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้อาจมีนัยสำคัญ” 

นอกจากนั้น กรรมการผู้จัดการ IMF บอกอีกว่า การปรับสมดุลเศรษฐกิจของจีนอาจทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 15% ในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทั่วโลกอีกเช่นกัน โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในช่วงเวลาดังกล่าวจะลดลง 4.5%