ADB คาดเศรษฐกิจเอเชียปีนี้โต 4.8% จีน-อินเดียเป็นความหวังแบกทั้งทวีป

ADB คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย
AFP/ Hector RETAMAL

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโต 4.8% ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยปัจจัยที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในภาพรวมคือ การเปิดประเทศ-การฟื้นตัวของจีน และอุปสงค์อันแข็งแกร่งของอินเดีย   

วันที่ 4 เมษายน 2566 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เผยแพร่รายงาน “Asian Development Outlook 2023” หรือรายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย 46 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ ADB ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น

ADB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียจะเติบโต 4.8% ทั้งในปีนี้และปี 2567 เป็นการเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปี 2565 ที่โต 4.2% โดยปัจจัยที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในภาพรวมทั้งในปีนี้และปีหน้าคือ การฟื้นตัวจากโควิด-19 ของประเทศจีน และอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งของอินเดีย 

ADB บอกว่า การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนกำลังทำให้แนวโน้มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกดูสดใสขึ้นด้วยการค้ากับการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งจีนได้ส่งผ่านผลกระทบด้านบวกไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชีย 

ADB คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะดีดตัวขึ้นเป็น 5.0% จาก 3.0% ในปี 2565 ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะโต 4.5% 

สำหรับภูมิภาคเอเชียใต้ ADB มองว่า ในภาพรวมจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน แต่แนวโน้มการเติบโตในระดับย่อยลงไปจะแตกต่างกันมาก เศรษฐกิจของประเทศอินเดียคาดว่าจะเติบโต 6.4% ในปีนี้ และ 6.7% ในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง แต่ปากีสถานและศรีลังกาเผชิญกับแนวโน้มที่ท้าทาย 

ในภูมิภาคคอเคซัสและเอเชียกลาง ภูมิภาคแปซิฟิก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตของเศรษฐกิจจะได้รับการยกระดับให้ดีขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 

สำหรับประเทศไทย ADB คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะโต 3.3% และในปี 2567 จะโต 3.7% โดยมีปัจจัยหนุนหลักคือภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ส่วนภาคการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะโตในระดับปานกลางที่ 6.6% ในปีนี้ และ 6.3% ในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในปีนี้ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นปัจจัยดึงรั้งให้การส่งออกสินค้าลดลง 

ด้านอัตราเงินเฟ้อ ADB คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปี 2566 จะอ่อนแรงลงไปอยู่ในระดับปานกลางที่ 4.2% ลดลงจาก 4.4% ในปี 2565 แล้วจะลดลงเป็น 3.3% ในปี 2567 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ค่าเฉลี่ยก่อนโควิด-19  

ADB บอกอีกว่า ในปี 2565 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีความทานทนต่อปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเกือบทั้งปีที่ผ่านมา การเติบโตของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียได้แรงหนุนจากการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงในหลายประเทศ ช่วยหักล้างผลกระทบของราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ภาวะการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

สำหรับปีนี้ อัลเบิร์ต พาร์ก (Albert Park) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB เตือนว่า ความเสี่ยงและความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันใดยังคงขัดขวางการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ปัญหาความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐอเมริกาและยุโรปเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นต่อเสถียรภาพของภาคการเงิน 

“ผู้กำหนดนโยบายควรระมัดระวังสภาพแวดล้อมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และหนี้สินที่ล้วนแต่สูงขึ้น รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องสนับสนุนการค้าพหุภาคีต่อไป และดำเนินนโยบายที่เลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกแยกในระดับโลก และเอเชียต้องสานต่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่างแข็งแกร่งต่อไป เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนเหล่านี้” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB เตือน