ตลาดเงินจีน เทียบชั้น “สหรัฐ”

ความเคลื่อนไหวของจีน โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจไม่เคยตกไปจากจอเรดาร์ความสนใจของโลก ในฐานะชาติซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกและขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถูกคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีอาจจะแซงสหรัฐขึ้นเป็นเบอร์ 1 เศรษฐกิจโลก หลังจากประสบความสำเร็จในการแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในปัจจุบัน

แต่ การผงาดขึ้นของจีนในเชิงเศรษฐกิจไม่ใช่ว่าทุกคนจะสบายใจ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์หรือ เผด็จการ อันเป็นระบอบที่ตรงข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งล้วนแต่ปกครองด้วยระบอบ ประชาธิปไตย และนับเป็นข้อยกเว้นไม่ธรรมดาที่ประเทศเผด็จการจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาด เศรษฐกิจใหญ่จนน่าเกรงขาม เพราะในอดีตประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ชั้นนำของโลกล้วนเป็นประเทศ ประชาธิปไตย

จีนไม่เคยหยุดความพยายาม

อันทะเยอทะยาน ที่จะเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจ เพราะเข้าใจดีว่าตราบใดที่มีอำนาจซื้อในมือ ตราบนั้นอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้นเอง แม้ว่าจีนจะไม่แสดงเรื่องนี้ออกมาชัดแจ้งก็ตาม

ในระยะไม่กี่ปีมานี้ “จีน”ได้พยายามปฏิรูปหลายด้านเพื่อยกระดับให้เป็นสากล นับตั้งแต่การพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลที่ยอมรับในระดับสากล จนกระทั่งสามารถทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยอมรับ “เงินหยวน” เข้าเป็นเงินสกุลที่ 5 ในตะกร้าเงินสำรองของไอเอ็มเอฟ ที่เรียกว่า Special Drawing Right (SDR) ต่อจากดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และเยน

ล่าสุดจีนประสบความสำเร็จระดับสากลไปอีกขั้น เมื่อ MSCI ประกาศยอมรับหุ้น A-share (หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นภายในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งตลาดหลัก ได้แก่ เสิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้)เข้าคำนวณในดัชนี MSCI หลังจากถูกปฏิเสธมาถึง 3 ครั้ง ส่วนในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจนั้นจีนได้ปรับใหม่โดยใช้การบริโภคภายในประเทศ และภาคบริการมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออก ซึ่งบางอย่างก็เริ่มเห็นผลแล้ว

ทีมนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปใน ฮ่องกงระบุว่า จากการที่จีนได้พยายามพัฒนาตลาดเงินภายในประเทศ ทั้งการยกเลิกข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด รวมทั้งการที่หุ้นจีนสามารถเข้าไปอยู่ในการคำนวณของดัชนีตลาดหุ้นโลก จะทำให้ต่างชาติสามารถเพิ่มความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ของจีนได้มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างโมเมนตัมในการเปิดตลาดให้กว้างและลึกขึ้น ดังนั้นปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนโลก โดยที่เงินทุนก้อนใหญ่ของต่างชาติจะไหลเข้าไปในตลาดจีน

ซิตี้กรุ๊ป เชื่อว่าภายในปี 2025 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในจีนก็คือ จีดีพีของจีนที่ยังไม่ปรับด้วยเงินเฟ้อ จะอยู่ที่ 28 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนสหรัฐจะอยู่ที่ 26 ล้านล้านดอลลาร์ โดยคำนวณจากสมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินหยวนค่อย ๆ แข็งค่าขึ้นไปสู่ระดับ 5 หยวนต่อดอลลาร์ (จากปัจจุบัน 6.8 หยวนต่อดอลลาร์)

นอกจาก นี้จะมีเงินทุนใหม่จากต่างประเทศไหลเข้าไปจีนประมาณ 3.36 ล้านล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นไหลเข้าตลาดพันธบัตร 7.79 แสนล้านดอลลาร์ ไหลเข้าตลาดหุ้น 2 แสนล้านดอลลาร์ และไหลเข้าสินทรัพย์ธนาคาร 2.38 ล้านล้านดอลลาร์ (ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินปล่อยกู้) หากดูจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับจีดีพีสหรัฐ ตลาดเงินสหรัฐจะมีมูลค่า 137 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 ด้วยเหตุนั้นซิตี้กรุ๊ปจึงประเมินว่าตลาดเงินของจีนก็จะมีขนาดเดียวกับสหรัฐ

ซิตี้ กรุ๊ปประเมินด้วยว่า ภายในปี 2025ตลาดพันธบัตรจีนจะขยายตัว 3 เท่า ไปอยู่ที่ 188 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 38 ล้านล้านดอลลาร์) ส่วนตลาดหุ้นจะเติบโตด้วยอัตราเท่ากันไปอยู่ที่ 154 ล้านล้านหยวน

“หาก สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงในอนาคตไม่ไกลนี้ นักลงทุนสถาบันก็ไม่มีทางเลือกที่จะอยู่ห่างจากตลาดหุ้นจีน หากพวกเขาต้องการผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์ชี้วัด การเร่งตัวของการปฏิรูปตลาดทุนจีนในช่วง 5 หรือ 10 ปีข้างหน้ามีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโฉมการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก” หลิว ลี่-กางหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ซิตี้กรุ๊ประบุ