สหราชอาณาจักร หรือที่คนไทยเรียกตามความคุ้นชินว่า “อังกฤษ” ได้เข้าเป็นสมาชิก “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2023 และจะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาและผูกพันตามสนธิสัญญาในเดือนกรกฎาคมนี้
หลังถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อต้นปี 2020 อังกฤษก็มองหาตลาดใหม่ทดแทน หนึ่งในนั้นคือ CPTPP ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน
รัฐบาลอังกฤษเคยแถลงว่า การเป็นสมาชิก CPTPP จะสร้างรายได้ให้สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 1,800 ล้านปอนด์ หลังเข้าเป็นสมาชิก 10 ปี ซึ่งจะคิดเป็นประมาณ 0.08% ของจีดีพีอังกฤษ
ถึงอย่างนั้นก็ตาม อังกฤษมีข้อตกลงทวิภาคีกับหลายประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP อยู่แล้ว ซึ่งถ้าหักลบแล้วก็นับว่าประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP ไม่ได้มากเท่าที่ประเมิน เพราะถึงแม้ไม่ได้เข้าร่วม CPTPP อังกฤษก็ได้ประโยชน์จากข้อตกลงทวิภาคีอยู่แล้ว
อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบางคนมองว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลเสีย ทำให้อังกฤษกลับเข้าเป็นสมาชิกอียูยากขึ้น เนื่องจากการประสานกฎการค้าของอังกฤษให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CPTPP จะทำให้มีความขัดแย้งกันระหว่างกฎของอียูกับอังกฤษ
ล่าสุดมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจอังกฤษอีกคนที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การเข้าร่วม CPTPP ของอังกฤษ ไม่สามารถชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการออกจากอียูได้
บิลล์ เอ็มมอตต์ (Bill Emmott) อดีตบรรณาธิการบริหาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ผู้จบการศึกษา “ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์” จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” ว่า การที่อังกฤษเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ช่วยเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจเล็กน้อยจนแทบมองไม่เห็น
“การกระตุ้นเศรษฐกิจจะน้อยมาก สำหรับทั้งสหราชอาณาจักรและประเทศสมาชิกดั้งเดิม สหราชอาณาจักรมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใน CPTPP อยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศสมาชิกอื่น ๆ อีกทั้ง CPTPP ไม่ครอบคลุมถึงยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย รัฐบาลสหราชอาณาจักรประเมินว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 0.08% เท่านั้น แม้กระทั่งในระยะยาวก็ตาม”
เอ็มมอตต์มองว่า การเข้าเป็นสมาชิกของอังกฤษ โดยมีญี่ปุ่นและออสเตรเลียสนับสนุนอย่างแข็งขันนั้น มีความหมายในทาง “การเมือง” มากกว่า เพราะการที่อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกโดยยอมรับข้อกำหนดที่สมาชิกร่วมก่อตั้งกำหนดไว้โดยไม่ได้ขอแก้ไขหรือต่อรองนั้น เป็นการสร้าง “แบบอย่าง” หรือบรรทัดฐาน ซึ่งจะทำให้จีนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อกำหนด กฎหมายต่าง ๆ ของจีนกับ CPTPP นั้นมีความแตกต่างกันมาก หมายความว่าการจะยอมรับข้อกำหนดอย่างที่อังกฤษยอมรับนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับจีน
ถึงอย่างนั้น เอ็มมอตต์มองเห็นแง่มุมทางบวกอยู่บ้างว่า ในระยะยาว การมีอิทธิพลต่อการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าในภูมิภาคที่เป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลกอย่าง CPTPP เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งสำหรับอังกฤษหลังออกจากอียู และในอนาคตหากมีการรับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า CPTPP น่าเชื่อถือและดึงดูดใจมากกว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) หลายประเทศในเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลีใต้ ไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย ก็จะเข้าร่วมมากขึ้น แล้วผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าถามว่า การเป็นสมาชิก CPTPP จะช่วยชดเชยผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการออกจากอียูได้หรือไม่
เอ็มมอตต์ตอบชัดเจนว่า “ไม่” เขาอธิบายว่า อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของอังกฤษ และความสูญเสียจากการถอนตัวออกมานั้นมีมาก ดังนั้น เพื่อที่จะชดเชยความสูญเสียนั้น อังกฤษกับอียูจำเป็นต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าให้มีสถานะเหมือนกับนอร์เวย์หรือสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป แต่อยู่ในระบบ “ตลาดเดียว” ของอียู