
ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) บริษัทผลิตชิปรายใหญ่ของโลกจากไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญของแอปเปิล (Apple) ประกาศถอนการลงทุนจากบริษัทร่วมทุนผลิตชิปในอินเดีย ซึ่งลงทุนร่วม 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จับตาความเคลื่อนไหวนี้จะสั่นสะเทือนเป้าหมายของนายกฯ “โมดี” ที่จะดึงดูดบริษัทเทคต่างชาติตั้งฐานการผลิตในอินเดีย
ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) รายใหญ่ของโลกจากไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญของแอปเปิล (Apple) ประกาศเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ว่า บริษัทได้ถอนการลงทุนจากบริษัทร่วมทุนผลิตชิปกับเวดานตา (Vedanta) บริษัทยักษ์ใหญ่ในอินเดีย ซึ่งลงทุนร่วม 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ตามที่ลงนามข้อตกลงกันเมื่อปีที่แล้ว บริษัทร่วมทุนของฟ็อกซ์คอนน์กับเวดานตาจะตั้งโรงงานผลิตชิปและจอแสดงผลในรัฐคุชราต ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ของอินเดีย
“ฟ็อกซ์คอนน์ได้พิจารณาแล้วว่าจะไม่เดินหน้าในโครงการร่วมทุนกับเวดานตา” ฟ็อกซ์คอนน์บอกในแถลงการณ์ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผล
ฟ็อกซ์คอนน์กล่าวว่าได้ทำงานร่วมกับเวดานตามานานกว่า 1 ปี เพื่อทำให้ไอเดียอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์เกิดขึ้นจริง แต่ก็ได้ตัดสินใจแล้วที่จะถอนทุนและลบชื่อออกจากกิจการร่วมทุน ซึ่งหลังจากนี้เวดานตาจะเป็นเจ้าของกิจการโดยสมบูรณ์
ด้านเวดานตากกล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในโครงการนี้ และได้ลิสต์รายชื่อพันธมิตรรายอื่นเพื่อที่จะร่วมมือกันตั้งโรงงานรับผลิตชิป (foundry) แห่งแรกในอินเดีย และบอกด้วยว่า “เวดานตาได้เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า” เพื่อเติมเต็มวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีโมดีในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเข้าไปสร้างฐานการผลิตในอินเดีย
รอยเตอร์รายงานอ้างคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อีกว่า เหตุผลที่ฟ็อกซ์คอนน์ถอนการลงทุนนั้นเป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการอนุมัติมาตรการสิ่งจูงใจ (incentive) ของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับประมาณการค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดทำขึ้นเพื่อขอรับสิ่งจูงใจ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดียจัดลำดับให้ “การผลิตชิป” อยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจกิจของอินเดีย เพื่อแสวงหา “ยุคใหม่” ของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การที่ฟ็อกซ์คอนน์ตกลงเข้าร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตชิปในอินเดียเมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของเขาในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปผลิตชิปในอินเดียเป็นครั้งแรก ซึ่งเมื่อข้อตกลงนี้ถูกยกเลิก ก็นับเป็นความพ่ายแพ้ของโมดีด้วย
ดังที่ นีล ชาห์ (Neil Shah) รองประธานฝ่ายวิจัยของบริษัทวิจัยตลาด Counterpoint Research กล่าวว่า ความล้มเหลวของข้อตกกลงนี้เป็นความพ่ายแพ้อย่างแน่นอนสำหรับ การผลักดัน “Make in India” ของโมดี
เขาบอกอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้สะท้อนภาพที่ดีสำหรับเวดานตา และมันทำให้บริษัทอื่น ๆ ตั้งคำถามและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการร่วมทุนกับบริษัทในอินเดียด้วย
อย่างไรก็ตาม ราจีฟ จันทรเศขร (Rajeev Chandrasekhar) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไอทีของอินเดีย กล่าวว่า การตัดสินใจถอนทุนของฟ็อกซ์คอนน์ “ไม่ส่งผลกระทบ” ต่อแผนการของอินเดีย และเสริมว่าทั้งสองบริษัทเป็น “นักลงทุนที่ทรงคุณค่า” ในประเทศ