บิ๊กมูฟอุตสาหกรรมชิปเขย่าโลก Intel – Micron ลงทุนครั้งใหญ่ในหลายประเทศ

อุตฯชิป

อุตสาหกรรมชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ มีความเคลื่อนไหวสำคัญในช่วงสัปดาห์กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เป็นมูฟเมนต์ที่ทำให้เห็นทั้งความพยายามของภาคธุรกิจที่ต้องการขยายกำลังการผลิต และความพยายามของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการดึงให้บริษัทระดับโลกตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งฉายให้เห็นภาพนโยบาย Friend-shoring หรือการจำกัดห่วงโซ่อุปทานไว้เฉพาะในประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาชัดมากขึ้น

เมื่อเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่โลกต้องการ บริษัทผลิตชิปจึงอยู่ในสถานะ “เนื้อหอม” ได้รับข้อเสนอ-แรงจูงใจมากมายจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เข้าไปตั้งโรงงานผลิต ซึ่งดีลที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดเกิดในประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา

อินเทล (Intel) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีแผนลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ทั่วทวีปยุโรป เพิ่งประกาศเมื่อ 16 มิถุนายน 2023 ว่าจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท) สำหรับโรงงานประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในเมืองวรอตสวัฟ (Wroclaw) ทางตะวันตกของโปแลนด์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2027

อินเทลให้เหตุผลที่เลือกตั้งโรงงานใหม่ในโปแลนด์ว่า เพราะโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรกลุ่ม tech talent ที่โปแลนด์มี อีกทั้งที่ตั้งของโรงงานนี้อยู่ใกล้กับโรงงานที่จะสร้างในเยอรมนี และไอร์แลนด์

ขณะเดียวกัน แผนสร้างคอมเพล็กซ์สำหรับผลิตชิปของอินเทลในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนทั่วยุโรปที่ประกาศเมื่อปีที่แล้ว ก็มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยหนังสือพิมพ์ฮันเดลส์บลัตต์ ในเยอรมนี รายงานว่า รัฐบาลเยอรมันจะให้การสนับสนุนแก่อินเทลถึง 9,900 ล้านยูโร (ประมาณ 376,400 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 6,800 ล้านยูโร (ประมาณ 258,500 ล้านบาท) ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้

แพ็ท เกลซิงเกอร์ (Pat Gelsinger) ซีอีโอของอินเทล พูดถึงการขอเพิ่มเงินส่งเสริมจากรัฐบาลเยอรมันว่า เป็นการขอเพิ่ม “ความสามารถในการแข่งขัน” เนื่องจากต้นทุนค่าแรงในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างมาก และต้นทุนวัสดุก็เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น ต้นทุนที่บริษัทต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันจึงสูงกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก

นอกจากนั้น รัฐบาลอิสราเอลประกาศเมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า อินเทลจะขยายกำลังการผลิตของโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์หรือแผงวงจรในประเทศอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลเป็น 1 ใน 4 ฐานการผลิตหลักของอินเทลอยู่แล้ว

การขยายฐานผลิตของอินเทลเป็นความพยายามของซีอีโออินเทล ที่ต้องการขยายฐานการผลิตนอกเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจเหนือการผลิตชิป และเป็นภูมิภาคที่การผลิตชิปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน อีกทั้งเกลซิงเกอร์มุ่งมั่นที่จะฟื้นความเป็นผู้นำในอุตฯชิปของอินเทลขึ้นมา หลังจากโดนคู่แข่งอย่าง Nvidia และ TSMC บดบังศักยภาพมาหลายปี

ในช่วงเดียวกัน สื่อต่างประเทศรายงานความเคลื่อนไหวของ ไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) อีกบริษัทจากสหรัฐที่เพิ่งโดนทางการจีนแบนเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ไมครอนจะลงทุน 500,000 ล้านเยน (ประมาณ 123,000 ล้านบาท) เพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปหน่วยความจำรุ่นใหม่ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นประมาณ 200,000 ล้านเยน (ประมาณ 49,000 ล้านบาท)

การให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสัญญาณความทะเยอทะยานในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นแหล่งผลิตสำรองของไต้หวัน ในกรณีที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน-สหรัฐทวีรุนแรงขึ้น

และมีการรายงานอีกว่า ไมครอนจะทุ่มเงินอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 34,770 ล้านบาท) สำหรับตั้งโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิปในอินเดีย ซึ่งจำนวนเงินลงทุนจริงอาจเพิ่มขึ้นถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 69,500 ล้านบาท)

สำหรับอินเดีย ข้อตกลงนี้นับเป็นชัยชนะของนโยบาย “Make in India” ที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ตั้งฐานการผลิตในประเทศ เพื่อพัฒนาสินค้าที่ผลิตในอินเดียให้เป็นที่ยอมรับจากเวทีโลก

นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวที่สร้างเซอร์ไพรส์ คือในวันที่ 16 มิถุนายน ไมครอนประกาศจะเพิ่มเงินลงทุนในจีนอีก 4,300 ล้านหยวน (ประมาณ 149,500 ล้านบาท) แม้ว่าจะเพิ่งโดนแบนก็ตาม นั่นก็เพื่อปกป้องรายได้ที่ยังเหลือหนทางให้รักษาไว้อยู่ในตลาดจีน ซึ่งมีมูลค่า 11% ของรายได้รวมของบริษัท

ทั้งหมดนี้นับเป็นความเคลื่อนไหวที่เขย่าโลกอย่างแท้จริง