ความสำเร็จ “โมดี” เยือนสหรัฐ กับภารกิจดึงการลงทุนสู่อินเดีย

โมดี เยือนสหรัฐ
นเรนทรา โมดี ท่ามกลางซีอีโอบริษัทระดับโลก/ Photo by Brendan Smialowski / AFP

การเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีนัยสำคัญทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและในทางเศรษฐกิจ

สำหรับฝั่งอินเดียเอง การเดินทางครั้งนี้มีความหมายอย่างมากทางเศรษฐกิจ และเป็นภาพความสำเร็จในฐานะผู้นำประเทศของโมดี ที่ผู้นำอีกหลายประเทศทั่วโลกคงอยากทำอย่างนั้นได้บ้าง

ไบเดนเชิญผู้บริหารธุรกิจใหญ่ ๆ เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเปิดประตูการเจรจาธุรกิจ ซึ่งพูดได้เลยว่าไบเดนให้ของขวัญแด่แขกคนสำคัญ เพื่อแลกกับความร่วมมือด้านความมั่นคง และการผนึกกันคานอำนาจจีน

“ทิม คุก” ซีอีโอของแอปเปิล, ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโออัลฟาเบต (บริษัทแม่ของกูเกิล), สัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์, แลรี่ คัลพ์ ซีอีโอของเจเนอรัล อิเล็กทริก (GE), เดวิด คาลฮูน ซีอีโอโบอิ้ง, จอช เบเกนสไตน์ ประธานร่วมของเบน แคปิตอล, เรวธี อทไวธี ซีอีโอบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ เฟลกซ์ (Flex), แซม อัลต์แมน ซีอีโอของโอเพ่นเอไอ และมูเกช อัมบานี มหาเศรษฐีชาวอินเดีย คือเหล่าบิ๊กเนมธุรกิจระดับโลกที่เข้าร่วมงานเลี้ยงนี้

การเยือนสหรัฐของโมดีเน้นย้ำถึงความพยายามที่จะให้อินเดียเป็นหุ้นส่วนด้านการผลิตและเทคโนโลยีของสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มการมีส่วนร่วมของอินเดียในทางการทูตและเศรษฐกิจโลก

โมดีบอกว่าอินเดียกำลังดำเนินการเพื่อขจัดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคการลงทุน และการเยือนสหรัฐในครั้งนี้ก็เพื่อสำรวจข้อมูลจากฝั่งธุรกิจ เพื่อจะทำให้บริษัทสหรัฐลงทุนในอินเดียได้ง่ายขึ้น

ความสำเร็จ “โมดี” เยือนสหรัฐ
โจ ไบเดน กับนเรนทรา โมดี

หลายปีก่อน โมดีประกาศนโยบายสำคัญ คือ การดึงดูดการลงทุนผ่านโครงการ “Make in India” ที่เริ่มใช้ในเดือนกันยายน 2014 โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายสร้างบรรยากาศให้บริษัทต่างชาติอยากเข้าไปลงทุน และยกระดับอินเดียเป็น “ศูนย์กลางการผลิตสินค้าของโลก”

เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย อินเดียได้พัฒนาและขจัดอุปสรรคการลงทุนของต่างชาติมาต่อเนื่อง สะท้อนผ่านอันดับ “ความง่ายในการประกอบธุรกิจ” ที่ดีขึ้นมาก จากอันดับ 142 ในปี 2014 ก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่อันดับ 63 ในปี 2020

การเยือนสหรัฐของโมดีในครั้งนี้ จะเรียกว่าเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญภาคใหม่ของโครงการ Make in India ก็คงไม่ผิด

“อีลอน มัสก์” แห่งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ เป็นบิ๊กเนมรายแรกที่พบโมดีที่นิวยอร์ก หลังการพบกัน มัสก์ประกาศว่าเทสลาจะเข้าไปลงทุนในอินเดียให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมัสก์คาดหวังจะนำอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม “สตาร์ลิงก์” เข้าไปให้บริการในอินเดียด้วย

ในแถลงการณ์ร่วมของไบเดนและโมดี กล่าวถึงข้อตกลงทางการค้าหลายชุดเช่น ข้อตกลงของ “จีอี” ของสหรัฐ กับ “ฮินดูสถานแอโรนอติกส์” ของอินเดียในการร่วมผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินรบ ข้อตกลงคำสั่งซื้อโดรนของอินเดียจาก “เจเนอรัล อะตอมมิกส์” ของสหรัฐ และแผนการลงทุนโรงงานประกอบเซมิคอนดักเตอร์ของ “ไมครอน”

นอกจากนั้น “โบอิ้ง” ประกาศลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการฝึกอบรมนักบินในอินเดีย, “แอพพลายด์ แมททีเรียลส์” ประกาศสร้างศูนย์เซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในอินเดีย ขณะที่ “แลม รีเสิร์ช” ผู้ผลิตชิปอีกรายก็มีโครงการฝึกอบรมวิศวกรจำนวน 60,000 คน ในอินเดีย

ราเชศ ศาห์ ผู้ก่อตั้ง “เอเดลไวส์ กรุ๊ป” อดีตประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งอินเดีย กล่าวว่า การเยือนสหรัฐของผู้นำอินเดียเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดทั้งด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“…การเดินทางครั้งนี้ได้เปิดสวิตช์เพื่อทำให้อินเดียน่าสนใจยิ่งขึ้นในสายตาธุรกิจและนักลงทุนระดับโลก” ตัวแทนภาคธุรกิจในอินเดียแสดงความเห็น