ความเป็นไปได้ของสกุลเงิน BRICS “สมการ” สำคัญอยู่ที่อินเดีย

ความเป็นไปได้ของสกุลเงิน BRICS
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ท่ามกลางความยืดเยื้อยาวนานของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปและถูกประโคมดังขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือการที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว 5 ประเทศ หรือที่เรียกว่า BRICS อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีแนวคิดจะสร้างสกุลเงินของตัวเอง เพื่อใช้ค้าขายระหว่างกัน จุดประสงค์ใหญ่ก็คือลดการพึ่งพาดอลลาร์ ลดอิทธิพลของดอลลาร์ในธุรกรรมการค้าโลก

ความต้องการจะสร้างสกุลเงินของกลุ่ม BRICS เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่หลังจากรัสเซียบุกยูเครนและถูกสหรัฐใช้อิทธิพลของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลกเล่นงาน ทำให้อัตราเร่งในการผลักดันเงินสกุลใหม่สูงขึ้น

เนื่องจากประเทศในกลุ่ม BRICS เกรงว่าจะถูกสหรัฐใช้มาตรการเดียวกันเล่นงาน โดยปลายเดือนสิงหาคมนี้ กลุ่ม BRICS จะมีการประชุมระดับผู้นำที่แอฟริกาใต้ และจะมีการหารือในประเด็นสกุลเงินใหม่ดังกล่าว ซึ่งหากสำเร็จก็จะเป็นการเสริมและเติมเต็มความปรารถนาของจีนและรัสเซียที่อยากจะโค่นดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การจะสร้างสกุลเงินดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ การค้า และระดับการเปิดของตลาดการเงิน

“อิสซา มลางกา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารแรนด์ เมอร์แชนต์ ของแอฟริกาใต้ ระบุว่า หากดูจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว สกุลเงิน BRICS ไม่สามารถจะโค่นดอลลาร์ได้ในเวลาอันใกล้ อีกทั้งความแตกต่างทางเศรษฐกิจภายในกลุ่มก็ทำให้ยากที่จะให้กำเนิดสกุลเงินใหม่ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน แอฟริกาใต้ก็คงไม่สามารถมีบทบาทอะไรได้มากนักเนื่องจากเศรษฐกิจมีขนาดเล็กและมีทุนสำรองน้อย ส่วนจีนอยู่ในฐานะที่สามารถเล่นบทบาทนำได้มากที่สุด แต่จีนก็ไม่เต็มใจจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวเสรี และยังมองไม่เห็นแม้แต่น้อยว่าจีนจะยอมปล่อยมือจากการควบคุมค่าเงิน

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ แสดงความสงสัยว่า อินเดียจะยอมรับเงินสกุลใหม่นี้หรือไม่ และต้องการจะอยู่ขั้วเดียวกับจีนในด้านเศรษฐกิจหรือเปล่า ในเมื่อทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทชายแดนถึงขั้น
ปะทะกันทางทหาร นอกจากนั้น สกุลเงินใหม่ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าอินเดีย

ทางด้าน ปราชันต์ ปราพาคาร์ เดสปันเด นักวิชาการของอินเดีย เห็นว่า ความขัดแย้งชายแดนระหว่างอินเดียกับจีน ทำให้อินเดียอาจไม่อยากสนับสนุนแผนของจีนที่จะโค่นดอลลาร์ อินเดียมองว่าความพยายามของรัสเซียและจีนที่จะลดการใช้ดอลลาร์เป็นแค่อุดมการณ์มากกว่าจะปฏิบัติจริง ดังนั้น อินเดียจึงไม่แสดงออกชัดเจนที่จะสนับสนุนให้ BRICS ท้าทายความเป็นใหญ่ของดอลลาร์

ปราชันต์ระบุว่า ที่ผ่านมาอินเดียได้หาหนทางด้วยตัวเองที่จะลดพึ่งพาดอลลาร์อยู่แล้ว โดยเปิดบัญชีพิเศษกับธนาคารต่าง ๆ ใน 18 ประเทศ อนุญาตให้ค้าขายด้วยเงินรูปี และหลังจากเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสหรัฐแซงก์ชั่นรัสเซีย รวมทั้งแผนของจีนที่จะผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากล ทำให้อินเดียยิ่งผลักดันการใช้เงินรูปีในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น

ปราชันต์ระบุด้วยว่า สหรัฐอเมริกานั้นมองว่าอินเดียเป็นพันธมิตรที่มีคุณค่าและเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และภายใต้สภาวการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น อินเดียจะได้ประโยชน์มากกว่าหากเลือกอยู่ซีกสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศประชาธิปไตยเหมือนกัน แทนที่จะเลือกอยู่กับจีน

ฮาร์ช วี. แพนต์ รองประธานศึกษานโยบายต่างประเทศของ ออปเสิร์ฟเวอร์ รีเสิร์ช ฟาวน์เดชั่น หน่วยงานถังความคิดในนิวเดลีกล่าวว่า ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและรัสเซียจะยังเหนียวแน่น แต่หลังจากรัสเซียถูกตะวันตกแซงก์ชั่นและหันไปใกล้ชิดจีนมากขึ้น ทำให้อินเดียจับตามองด้วยความกังวล เพราะอินเดียต้องพึ่งพาอาวุธจากรัสเซีย ด้วยตระหนักถึงประเด็นอ่อนไหวนี้ ทำให้ตะวันตกเอื้อมมือไปหาอินเดีย แม้ว่าจะเกิดความแตกต่างเกี่ยวกับจุดยืนต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน “ความกังวลด้านความมั่นคงกำลังผลักดันให้อินเดียใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น”

ราจัน เมนอน ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ของดีเฟนส์ ไพรออริตี้ หน่วยงานถังความคิดในวอชิงตัน ระบุว่า อเมริกามองจีนในฐานะผู้ท้าทายสำคัญต่อความเป็นใหญ่ในโลกของอเมริกา แต่ไม่ได้มองอินเดียในแบบนั้น ตรงกันข้ามอเมริกามองว่าอินเดียเป็นหุ้นส่วนที่จะช่วยคานอำนาจจีน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอเมริกาไม่มีปฏิกิริยาดุเดือดต่ออินเดียที่ยังญาติดีกับรัสเซียหลังบุกยูเครน ต่างจากปฏิกิริยาที่มีต่อคำประกาศของจีนที่ว่ามิตรภาพกับรัสเซีย “ไม่มีข้อจำกัด”