“พล.อ.ประยุทธ์” ในเวที BRICS จับมือหุ้นส่วนจีน สตาร์ตรถไฟไฮสปีด

การเดินทางไปประชุมร่วมระหว่างผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 9 กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue : EMDCD) ตามคำเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2560 ณ เมืองเซียเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทุกย่างก้าวทรงความหมาย

เชื่อมโครงข่ายคมนาคมข้ามพรมแดน

ก้าวแรก พล.อ.ประยุทธ์จะร่วมเป็นสักขีพยานลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเล แห่งศตวรรษที่ 21 ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลไทย เพื่อบรรลุ “ความคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” เพื่อร่วมมือด้านนโยบาย แบบได้ประโยชน์เป็นรูปธรรมทั้งสองฝ่ายโ

ดยร่วมมือริเริ่มทางเศรษฐกิจสายไหม อาทิ 1.กำหนดแผนงานความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง การบินพลเรือน ท่าเรือ ระบบไฟฟ้าและการสื่อสาร แสวงหาความเป็นไปได้ในการมีส่วนร่วมในการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซ โรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในประเทศไทย

ไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อม CLMV-จีน

2.การค้าแบบต่อเนื่อง การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความร่วมมือ 5 สาขาหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ICT/Digital วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและพลังงาน ตามแนวทางแผนปฏิบัติการร่วมกันภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี

ทั้ง 2 ประเทศจะใช้ประโยชน์จากตำแหน่งยุทธศาสตร์ของไทยเพื่อพัฒนาการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ เชื่อมโยงจากทางบกและทางน้ำที่มีอยู่เพื่ออำนวยความสะดวกให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ CLMV และประเทศจีน

3.การรวมกลุ่มทางการเงิน จะเพิ่มสัดส่วนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคี-บริการด้านการเงิน การค้าและการลงทุน

สานต่อยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 3

ก้าวที่สอง ร่างแผนปฏิบัติการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)

ซึ่งจะดำเนินความร่วมมือกันใน 20 สาขา ทั้งการเมือง การทหาร เศรษฐกิจและการค้า การลงทุน ลงรากลึกระดับมณฑล

ฝ่ายไทยจะดำเนินนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

เพิ่มการค้า 1.2 แสน ล.ดอลลาร์ ปี’63

ด้านเศรษฐกิจและการค้า มีเป้าหมายเพิ่มการค้าทวิภาคีเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 โดยส่งเสริมการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีและไม่ใช่ทางภาษี ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน

การพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ อาทิ การขยายเส้นทางเดินเรือขนส่งทางตรง ตั้งเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ อาทิ ศูนย์กระจายสินค้า ส่งเสริมช่องทางการตลาดและช่องทางการขายใหม่ อาทิ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ระบายสินค้าระหว่างมณฑลจีน-ไทย

ส่งเสริมการลงทุน ในสาขาเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ศูนย์กลางดิจิทัลและการแพทย์ การเงินและการธนาคาร ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (เงินหยวนและบาท) เป็นสกุลเงินสำหรับการชำระหนี้บัญชีทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

สนับสนุนความร่วมมือระหว่างมณฑลท้องถิ่นของจีนและรัฐบาลไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยางพารา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหารและการแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วนพลังงานทางเลือก เครื่องสำอาง เครื่องบินและชิ้นส่วน SMEs

ผนึกการลงทุนคมนาคม ราง เรือ อากาศ

ด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน” เพื่อเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีนและระดับภูมิภาค เพิ่มการใช้ประโยชน์จากระเบียงเศรษฐกิจ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม อาทิ สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) บนเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ (R3) เชื่อมโยงจีนตอนใต้-ลาว-ภาคเหนือของไทย

ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในไทย รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) และนิคมอุตสาหกรรม

เสริมสร้างการบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross-Border Transport Agreement : CBTA) เพื่อการค้าและการท่องเที่ยว

ส่งเสริมการลงทุนธุรกิจพลังงานของ 2 ประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวภาพ น้ำ และถ่านหินสะอาด

ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยรวม แต่ไม่จำกัดเรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์ม เครือข่ายโทรคมนาคม ระบบนำทางด้วยดาวเทียม ตลาดกลางการซื้อขายสินค้าและบริการด้วยอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาซอฟต์แวร์

นับ 1 รถไฟไทย-จีนแสนล้าน

ก้าวที่สาม พล.อ.ประยุทธ์จะร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามโครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 179,412.21 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญาที่ 2.1 และสัญญาที่ 2.2 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ

สัญญาที่ 2.1 การออกแบบรายละเอียด โดยสาระสำคัญของสัญญา เพื่อดำเนินการว่าจ้าง China Railway International Co.Ltd. และ China Railway Design Corporation ในการออกแบบรายละเอียดงานโยธาระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในวงเงินค่าจ้าง 1,706.771 ล้านบาท ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางยกระดับ โครงสร้างทางระดับดิน อุโมงค์ สะพาน อาคาร ย่านสถานี และโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาอื่น ๆ

มูลค่าสัญญา สัญญาที่มีการลงนามมูลค่า 1,706.771 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน นับแต่วันลงนามในสัญญา สกุลเงินที่ชำระตามสัญญา เป็นเงินสกุลบาทไทย โดยฝ่ายจีนเป็นผู้รับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

สัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant Services Agreement) วงเงิน 3,500 ล้านบาท สาระสำคัญของสัญญา ประกอบด้วย 1.มูลค่าสัญญา 3,500 ล้านบาท ระยะเวลาเริ่มต้นพร้อมกับการเริ่มต้นของสัญญาการก่อสร้างช่วงที่ 1 และมีระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 46 เดือน

ปรับกรอบวงเงินใหม่

เนื่องจากสัญญา 2.2 มีการปรับค่าใช้จ่ายในรายการ ส่งผลให้รายละเอียดกรอบวงเงินของโครงการเปลี่ยนแปลงไปจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 จึงต้องมีการปรับวงเงินในรายละเอียดของโครงการใหม่ อย่างไรก็ตามไม่ได้กระทบต่อกรอบวงเงินรวมของโครงการที่ ครม.อนุมัติวงเงินไว้

กรอบวงเงินใหม่ ค่ารื้อย้ายและเวนคืน 13,069.60 ล้านบาท สัญญาที่ 1 การก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา 117,914.08 ล้านบาท ส่วนต่าง ปรับลด 1,249.80 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานวางระบบ 45,481.55 ล้านบาท สัญญา 2.1 สัญญาการสำรวจและออกแบบรายละเอียดงานโยธา 1,706.78 ล้านบาท ปรับลด 118.06 ล้านบาท สัญญา 2.2 สัญญาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 3,500 ล้านบาท ปรับเพิ่ม 1,850.92 ล้านบาท สัญญา 2.3 งานวางรางงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถและฝึกอบรมบุคลากร 38,558.38 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการการก่อสร้างของฝ่ายไทย 1,233.33 ล้านบาท ปรับลด 483.06 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 3,430.04 ล้านบาท