วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ “กัมพูชา” จะเป็นอย่างไร ในปีที่มีนายกฯและ ครม.ใหม่

แนวโน้มเศรษฐกิจกัมพูชา
นครวัด (ภาพโดย TANG CHHIN Sothy / AFP)

วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศกัมพูชา จะเป็นอย่างไรในปีที่มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรุ่นใหม่

ปีนี้เป็นหนึ่งปีสำคัญในประวัติศาสตร์กัมพูชา เมื่อสมเด็จฯฮุน เซน (Hun Sen) ส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ลูกชายคนโต ขณะที่ผู้ใกล้ชิดของเขาก็ถ่ายโอนอำนาจในคณะรัฐมนตรีไปสู่มือคนรุ่นใหม่ของตระกูล

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกัมพูชา แต่จะให้ผลลัพธ์อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป 

ADVERTISMENT

ฮุน มาเนต (Hun Manet) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา กล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การบริหารประเทศของเขาจะมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสันติภาพ เสถียรภาพ เอกราช และอธิปไตยของชาติ ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มความยั่งยืนทางสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะมีนโยบายการลงทุนสีเขียว

น่าสนใจว่าเศรษฐกิจกัมพูชาในปีที่มีนายกฯและคณะรัฐมนตรีใหม่มีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร ? 

ล่าสุดมีบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจกัมพูชาจาก “วิจัยกรุงศรี” เผยแพร่ในวันที่ 30 สิงหาคม 2023 ที่มองว่า เศรษฐกิจกัมพูชากำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่ย้ายจากภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการ 

ADVERTISMENT

วิจัยกรุงศรีบอกว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 การฟื้นตัวของกัมพูชาถูกขัดขวางจากการส่งออกสินค้าที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด 

ทั้งปี 2023 นี้คาดว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโต 5.8% และจะยังคงแข็งแกร่งในปี 2024 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการที่อุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ 

ADVERTISMENT

“จากการคาดการณ์ของ IMF แนวโน้มการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว แต่เสถียรภาพทางการเงินยังคงเปราะบาง เนื่องจากมีการเติบโตของสินเชื่อที่สูงกระจุกตัวอยู่ในบางภาคส่วน” 

“การฟื้นตัวได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยฉุดรั้ง” 

การส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นในปี 2022 นำโดยการส่งออกสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ดีมานด์จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ลดลงคิดเป็น 70% ของการส่งออกสินค้าที่ลดลงทั้งหมดในปี 2023 (เทียบจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2022 ถึงจุดต่ำสุด ในเดือนเมษายน 2023) 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชาในขณะนี้ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในภาคบริการ โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความต้องการท่องเที่ยวของคนในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่อัดอั้นไว้ในช่วงโรคระบาด (pent-up demand) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ส่งผลให้แรงกดดันต่อรายได้ที่แท้จริงลดลง 

แม้ว่าเสถียรภาพภายนอกจะดีขึ้นแล้ว แต่การขาดความหลากหลายทำให้ประเทศกัมพูชาเสี่ยงต่อแรงลมต้านหรืออุปสรรคจากภายนอก 

“วิจัยกรุงศรี” อ้างการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของกัมพูชาจะลดลงจากระดับ 27% ของจีดีพีในปี 2022 เหลือ 12% ในปี 2023 เนื่องจากภาคบริการที่ฟื้นตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง 

การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังกัมพูชาเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงฟื้นตัวได้แม้จะผ่านช่วงการแพร่ระบาด โดยครึ่งหนึ่งของการไหลเข้าของ FDI มาจากประเทศจีน และกระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจที่พัก การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน 

การกระจายความเสี่ยงที่ต่ำทั้งในด้านการส่งออกสินค้าและ FDI จะทำให้กัมพูชาเสี่ยงต่อผลกระทบจากภายนอก และสินเชื่อในประเทศที่กระจุกตัวอยู่ในภาคการก่อสร้าง เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินในประเทศ 

“การขาดดุลแฝด” จะยังคงมีอยู่ แม้ว่าทั้งดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับปรุงดีขึ้นก็ตาม