เผยภาพ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นำกระเป๋ายิงนิวเคลียร์คู่กาย เข้าร่วมงานประชุม Belt and Road Forum ที่ประเทศจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2023 ว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย เข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 3 ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งถือกระเป๋าถือที่เป็นทรงกระเป๋าเอกสาร แต่ภายในกระเป๋านั้นเป็นปุ่มควบคุมอาวุธนิวเคลียร์
รอยเตอร์บอกว่า หลังจากการพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนในกรุงปักกิ่ง ปูตินถูกบันทึกภาพขณะกำลังเดินไปยังห้องประชุมอื่น ๆ ภายในงานซึ่งรายล้อมไปด้วยการรักษาความปลอดภัย และตามมาด้วยเจ้าหน้าที่สองคนที่สวมชุดเครื่องแบบกองทัพเรือรัสเซีย ทั้งสองคนถือกระเป๋าเอกสาร ซึ่งกล้องได้ซูมเข้าไปที่กระเป๋าเอกสารใบหนึ่ง
กระเป๋าควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ หรือกระเป๋าสั่งยิงนิวเคลียร์ของรัสเซียเป็นที่รู้จักในชื่อ “เชเกต” (Cheget) ซึ่งตั้งตามชื่อภูเขาเชเกตในเทือกเขาคอเคสซัส กระเป๋านี้จะเดินทางไปกับปูตินทุกที่ ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วกระเป๋าจะถูกถือโดยนายทหารเรือ แต่ถึงแม้ว่ามันจะไปกับปูตินทุกที่ มันก็ไม่ถูกบันทึกภาพหรือวิดีโอบ่อยนัก
“มีกระเป๋าเดินทางบางใบที่หากไม่มีมันแล้วการเดินทางของปูตินจะไม่สมบูรณ์” ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียของสำนักข่าวอาร์ไอเอ (RIA) กล่าวในโพสต์บนเทเลแกรมใต้วิดีโอดังกล่าว
อีกคลิปวิดีโอหนึ่งที่ถูกบันทึก เป็นภาพขณะที่ปูตินเดินออกจากการประชุมในกรุงปักกิ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสองคนถือกระเป๋าคนละใบ อยู่ห่างจากปูตินเพียงไม่กี่ก้าวขณะที่ปูตินกำลังยิ้มแย้มขณะเดินลงบันได
ทั้งนี้ โดยพื้นฐานแล้วกระเป๋าควบคุมนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ปลอดภัย ซึ่งเชื่อมการสื่อสารระหว่างประธานาธิบดีกับทหารระดับสูงของเขา ต่อจากนั้นเชื่อมไปยังกองกำลังจรวดผ่านเครือข่ายสั่งการและควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อเรียกว่า “คาซเบก” (Kazbek) ซึ่งคาซเบกนั้นสนับสนุนระบบที่เรียกว่า “คาฟคาซ” (Kavkaz) อีกที
รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันคือ เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) ก็มีกระเป๋าควบคุมนิวเคลียร์เช่นกัน และคาดว่า ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม ซึ่งปัจจุบันคือ วาเลรี เกราซีมอฟ (Valery Gerasimov) อาจมีเช่นกัน
นอกจากนั้น รอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐก็มีอุปกรณ์ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่พกพาออกนอกสถานที่เช่นกัน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ฟุตบอลนิวเคลียร์” (nuclear football)