Belt and Road (BRI) โครงการยุทธศาสตร์ที่จีนใช้ขยายอิทธิพลในเวทีโลก

Belt and Road (BRI)

“ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) หรือชื่อเดิมคือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ที่จีนเปิดตัวเมื่อปี 2013 มีอายุครบ 10 ปีพอดีในปีนี้ 

โครงการนี้เป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ระดับโลก ที่ถือว่าเป็นหัวใจของนโยบายต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจของจีนในยุคสี จิ้นผิง ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเรียกว่าเป็น “โครงการแห่งศตวรรษ” ด้วยความหมายมั่นปั้นมือให้เป็นโปรเจ็กต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี

จีนจัดการประชุมระดับสูง Belt and Road Forum ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่กรุงปักกิ่ง โดยเชิญผู้นำหลายประเทศที่เป็นสมาชิกหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งถือเป็นงานแสดงวิสัยทัศน์ของ สี จิ้นผิง ต่อผู้นำนานาชาติก็ว่าได้  

วันที่ 17-18 ตุลาคม 2023 จีนจัดการประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 3 ที่ปักกิ่ง โดยมีวลาดิมีร์ ปูติน (Vlardimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมด้วย

ในโอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนรู้จัก “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) มากขึ้น 

Belt and Road Initiative (BRI) คืออะไร ?

ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) หรือ One Belt One Road เป็นนโยบายความร่วมมือระดับโลกของจีน เน้นความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ครอบคลุมมิติทางวัฒนธรรมด้วย  

แกนหลักของ BRI คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและยุโรป ซึ่งรัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็น “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) และเพิ่มเส้นทางขนส่งทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในแถบชายฝั่งรวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย 

เพื่อที่จะผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จีนได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ขึ้นมา ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม การสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานในชนบทและการพัฒนาการเกษตร เป็นต้น 

ขอบเขตพื้นที่ “เส้นทางสายไหมใหม่”

ตามแผนริเริ่ม BRI ที่เปิดเผยเมื่อปี 2015 โครงการริเริ่มนี้ประกอบด้วยเส้นทางทางบก “หนึ่งแถบ” และเส้นทางทางทะเล “หนึ่งเส้นทาง” 

เส้นทางบกเริ่มต้นที่มณฑลซีอาน ตอนกลางของประเทศจีน ทอดยาวไปทางทิศตะวันตก ผ่านหลานโจว (มณฑลกานซู) อุรุมชี (เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) และคอร์กาส (เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) ซึ่งอยู่ชายแดนจีนติดกับคาซัคสถาน จากนั้นวิ่งผ่านอิรัก ซีเรีย ตุรกี บัลแกเรีย โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก ไปยังท่าเรือเมืองดืสบวร์กในเยอรมนี แล้วเส้นทางทางบกจะเชื่อมต่อทางทะเลที่ท่าเรือดืสบวร์กไปยังท่าเรือสำคัญ ๆ ของยุโรปเหนือ เช่น รอตเตอร์ดัม แอนต์เวิร์ป และฮัมบวร์ก 

ในอีกทางหนึ่ง แถบทางบกในยุโรปจะทอดยาวไปทางใต้สู่เมืองเวนิสในอิตาลี ไปบรรจบกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งเริ่มต้นที่ท่าเรือฉวนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน และเชื่อมต่อที่กวางโจว เป๋ยไห่ (กว่างสี) และไหโข่ว (ไห่หนาน) ก่อนที่จะมุ่งหน้าลงมาทางใต้สู่ช่องแคบมะละกา จากนั้นเชื่อมต่อกับอินเดีย/ปากีสถานที่ท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน และไปต่อถึงแอฟริกาตะวันออก ก่อนที่จะเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีจุดแวะจอดหลักที่ท่าเรือพิเรอุสในกรีซ และท่าเรือเวนิส อิตาลี 

นอกจากเส้นทางหลักที่เป็นแถบบกหนึ่งแถบและเส้นทางทางทะเลหนึ่งเส้นทางแล้ว ก็มีการขยายจำนวนเส้นทางย่อยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันครอบคลุม 6 ระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย รัสเซีย, สะพานเศรษฐกิจและระเบียงเศรษฐกิจนิวยูเรเซีย, ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก, ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน, ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา และระเบียงเศรษฐกิจคาบสมุทรอินโดจีน 

นับตั้งแต่การประกาศเปิดตัว BRI จำนวนประเทศที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัพเดต ณ เดือนมิถุนายน 2023 มีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ และมี 30 องค์กรระหว่างประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ BRI แล้ว 

มากกว่าการเชื่อมเส้นทางการค้า คือ การขยายอิทธิพลในเวทีโลก

นอกจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจแล้ว จีนถูกมอง (โดยเพาะอย่างยิ่งจากชาติตะวันตก) ว่า แรงจูงใจสำคัญที่จีนทำโครงการ BRI คือ แรงจูงใจทางการเมืองระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจีนพยายามขยายอิทธิพลและบทบาทความเป็นผู้นำของโลก โดยใช้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงการที่จีนมุ่งมั่นรักษา “บูรณภาพแห่งดินแดน” ซึ่งการที่จีนรวมเอาเขตปกครองตนเองซินเจียงเอาไว้ใน BRI ให้เป็นศูนย์กลางของเอเชียกลาง น่าจะช่วยให้จีนบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ 

ในรายละเอียดลงไปกว่านั้น นักวิชาการจำนวนหนึ่งวิเคราะห์ว่า จีนต้องการเพิ่มบทบาทของตนเองในสถาบันการเงินระหว่างประเทศด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จึงเป็นสาเหตุหลักที่นำมาสู่จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ซึ่งจีนลงทุนสูงสุดและมีสิทธิออกเสียงสูงสุด 26.1% 

บรูโน มาซาเอส (Bruno Maçães) นักการเมืองโปรตุเกสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการยุโรปของโปรตุเกส ได้เขียนไว้ในหนังสือ “Belt and Road : A Chinese World Order” ว่า “โลกยุคหลังหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มากกว่าโครงการอื่น ๆ โครงการนี้ได้เป็นสัญลักษณ์ของยุคใหม่ในการผงาดขึ้นมาของจีน ช่วงเวลาที่ปักกิ่งโอบรับบทบาทของตนในฐานะมหาอำนาจใหม่ สามารถสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ได้ และดึงดูดประเทศอื่น ๆ เข้าสู่วงโคจรทางเศรษฐกิจและอุดมการณ์ของตนเอง” 

เรื่องความพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่นั้น ยังไม่ชัดเจนว่าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะสามารถเปลี่ยนระเบียบโลกโลกไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่มุมมองที่ บรูโน มาซาเอส เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ คือ มีความเป็นไปได้ที่จีนอาจจะกำลังสร้างกลุ่มเศรษฐกิจที่แยกตัวออกไป โดยให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ สถาบัน รูปแบบการค้าที่รัฐบาลจีนกำหนด แทนที่จะบูรณาการเข้ากับระเบียบโลกที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนก็คือ จีนมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทในการเมืองโลกมากกว่าที่เคยเป็นมา 

ล่าสุด อัลเฟรด วู (Alfred Wu) รองศาสตราจารย์จากสำนักนโยบายสาธารณะลี กวนยู (Lee Kuan Yew School of Public Policy) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) แสดงมุมมองว่า การประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 3 นี้ สี จิ้นผิง เชิญ “เพื่อนรัก” ของเขาเข้าร่วมเฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นเมสเสจที่ชัดเจนว่าจีนกำลังพยายามมีพันธมิตรของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ท้าทายระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐด้วย  

10 ปีผ่านไป มีอะไรเกิดขึ้นบ้างใน “เส้นทางสายไหมใหม่”

10 ปีที่ผ่านมา จีนและพันธมิตรร่วม BRI ได้ขับเคลื่อนการลงทุนไปแล้วเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดโครงการความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการ สร้างงาน 420,000 ตำแหน่งในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทางสายไหมใหม่นี้

ถึงกระนั้น มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายใต้ BRI ก็ลดลงมาแล้วหลายปี หลังจากที่ขึ้นสู่จุดเกือบสูงสุดด้วยมูลค่า 121,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 (สูงสุดคือปี 2015 มูลค่า 122,500 ล้านดอลลาร์) หลายโครงการดำเนินการล่าช้าด้วยอุปสรรคเรื่องโควิด-19 และอื่น ๆ 

ในปี 2019 มูลค่าการกิจกรรมทางเศรษฐกิจโครงการภายใต้ BRI ลดลงเหลือ 107,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ลดลงเหลือ 63,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 นี้ มีมูลค่าประมาณ 41,100 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น หลาย ๆ ประเทศก็เริ่มเห็นว่าประเทศของตนเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางการค้า เพราะนับตั้งแต่มี BRI สินค้าของจีนก็ไหลบ่าเข้าไปยังประเทศต่าง ๆ มากกว่าที่จีนนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาถึงอนาคตใน BRI อย่างเช่นอิตาลีที่ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก BRI ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม จีนบอกในรายงานนโยบายของคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน (State Council) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า “ในฐานะประเทศขนาดใหญ่และเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่รับผิดชอบ จีนจะยังคงส่งเสริม BRI ต่อไปในฐานะแผนงานที่ครอบคลุมและการออกแบบระดับสูงสุดเพื่อการเปิดกว้างและความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

“มันจะเปิดกว้างมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และมีความลึกมากขึ้น”  

BRI ดึงประเทศยากจนเข้าสู่ “กับดักหนี้”

ในอีกทางหนึ่ง จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดทางว่าเป็น “ผู้ให้กู้ที่ขาดความรับผิดชอบ” เพราะการที่จีนเร่งให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และให้เงินกู้สำหรับการพัฒนาด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่สูงนั้นเป็นการนำประเทศต่าง ๆ เข้าสู่ “วิกฤตหนี้” ซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ 

นั่นทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบทวิเคราะห์-วิจารณ์ตามหน้าสื่อพูดถึง BRI ว่าเป็น “การทูตกับดักหนี้” ให้เห็นบ่อย ๆ ซึ่งหมายถึง ในที่สุดแล้ว หากประเทศยากจนที่กู้ยืมเงินจากจีนไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ ก็จะถูกบีบให้ต้องโอนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นให้เป็นของจีน ซึ่งหมายถึงประเทศนั้นจะสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ 

ปัจจุบันจีนเป็นผู้ให้กู้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของโลก ประเทศสมาชิก BRI ราว 150 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหมดในโลกนี้มีการกู้ยืมเงินจากจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่นำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้น โดยวงเงินรวมที่จีนให้กู้ยืมไปแล้วนั้นสูงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ศรีลังกาและลาว สองประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็ล้วนแต่เป็นลูกหนี้ของจีนที่กู้ยืมเงินก้อนมหึมาเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ BRI นอกจากนั้น มีอีกหลายประเทศที่อยู่ในรายชื่อประเทศที่เผชิญความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับจีนที่เป็นเจ้าหนี้และเจ้าโปรเจ็กต์เช่นกัน