คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
นับจากจอร์เจีย เมโลนี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลี กระแสข่าวเรื่องอิตาลีเตรียมจะถอนตัวออกจากการร่วมโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI อภิมหาโปรเจ็กต์ระดับโลกของจีน ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดในการประชุมกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (จี-20) เมื่อกลางเดือนกันยายนที่อินเดีย นายกฯหญิงของอิตาลี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเรื่องการถอนตัว อย่างไรก็ตาม เธอได้เน้นว่ามีความสัมพันธ์อย่างอื่นกับจีนอีกมากที่มีความสำคัญต่ออิตาลีมากกว่า BRI
นายกฯหญิงของอิตาลียังระบุด้วยว่า มีหลายชาติในยุโรปที่ปัจจุบันไม่ได้เข้าร่วมโครงการ BRI แต่ก็สามารถสร้างสัมพันธ์ที่น่าพอใจกับจีนได้มากกว่าอิตาลีเสียอีก คำกล่าวของเธอเป็นการพยายามแสดงให้เห็นว่าแม้จะถอนตัวจาก BRI แต่ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิตาลีจะต้องร้าวฉาน
อิตาลีเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (จี-7) ที่เข้าร่วม BRI แต่การที่ในปีหน้าอิตาลีคาดว่าจะเป็นประธานจัดประชุม จี-7 บวกกับที่ผ่านมา BRI ทำให้อิตาลีเป็นฝ่ายเสียมากกว่าได้ ประกอบกับในระยะหลังสหภาพยุโรปมีท่าทีสงสัยต่อจุดยืนจีนมากขึ้น ทำให้ในตอนนี้ท่าทีของอิตาลีต้องเอนเข้าหาพันธมิตรตะวันตกเพื่อให้สอดคล้องกัน
ก่อนหน้านี้นักการเมืองแถวหน้าของอิตาลีหลายคนได้ออกมาส่งเสียงเรื่องประโยชน์ที่อิตาลีได้ไม่คุ้มเสียจาก BRI อย่างเช่นเดือนกรกฎาคม จูโด โครเซตโต รัฐมนตรีกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่ออิตาลีว่า การตัดสินใจเข้าร่วม BRI เกิดขึ้นกะทันหันในรัฐบาล จูเซปเป้ คอนเต นำไปสู่ผลลัพธ์ด้านลบ “เราส่งออกส้มจำนวนมากไปจีน แต่จีนส่งออกมายังอิตาลีเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 3 ปี เราอยากถอนตัวจาก BRI โดยไม่ทำลายความสัมพันธ์กับจีน”
อิตาลีเข้าร่วม BRI อย่างเร่งด่วนในตอนนั้น เพราะต้องการเงินลงทุนและสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน เวลานั้นความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปไม่ราบรื่นนัก จึงหันไปหาจีนเพื่อหวังดึงเงินลงทุนเข้ามา อย่างไรก็ตาม อีก 4 ปีต่อมา ข้อตกลงที่ทำไว้กับจีนไม่เกิดผลประโยชน์กับอิตาลีมากนัก เงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) จากจีนลดจาก 650 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 เหลือ 33 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 แต่กลายเป็นว่าจีนไปลงทุนในประเทศยุโรปที่ไม่ได้เข้าร่วม BRI มากกว่าเสียอีก
อินเดียนเอ็กซ์เพรส สื่อของอินเดียชี้ว่า การที่อิตาลีต้องการถอนตัวจาก BRI ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มาจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย หลังจากจีนถูกอียูและสหรัฐมองว่าเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของรัสเซียในการรุกรานยูเครน “สำหรับจีนแล้ว การมีอิตาลีซึ่งเป็นสมาชิก จี-7 เข้าร่วม BRI เป็นชัยชนะทางการทูตครั้งใหญ่ แต่เมื่ออิตาลีกำลังจะถอนตัวในช่วงใกล้ครบรอบ 10 ปี BRI จะเป็นเรื่องเสียหน้าสำหรับจีน”
จูลิโอ ปูเยเซ อาจารย์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ให้ความเห็นว่า ในความคิดของสหรัฐ อาจเห็นว่าหากอิตาลีสามารถถอนตัวจาก BRI ได้อย่างราบรื่น โดยที่ยังสามารถรักษาความร่วมมือต่าง ๆ กับจีน อันหมายถึงไม่มีการแซงก์ชั่น หรือตอบโต้อย่างไม่เป็นทางการจากจีน ก็อาจเป็นสิ่งบ่งบอกโดยนัยว่า ประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งยุโรปตะวันออก ซึ่งเข้าร่วม BRI มากที่สุด อาจสามารถถอนตัวจาก BRI ได้เช่นกัน
“อย่าลืมว่าประเทศรอบทะเลบอลติกหลายประเทศ รวมทั้งยุโรปกลางและตะวันออก ค่อนข้างจะสงสัยจุดยืนของจีนในปัจจุบัน”
การแสดงความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรหญิงอิตาลีเรื่อง BRI ยังเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกาศแผนการพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจ อินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป” ซึ่งเป็นโครงข่ายทางรถไฟและเส้นทางทางทะเลที่เชื่อมอินเดีย ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อคานอำนาจโครงการ BRI และอิทธิพลจีนในตะวันออกกลาง
สำหรับอินเดียนั้น ไม่สนับสนุน BRI อยู่แล้ว เนื่องจากส่วนหนึ่งของ BRI พาดผ่านดินแดนอย่างถูกกฎหมายของอินเดีย แต่ปากีสถานครอบครองไว้ ส่วนนี้เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน” ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียได้ส่งเสียงกังวลและต่อต้านมาตลอด