ควันหลง G20 เมื่อ “จีน” โดนรุมในดงขั้วตรงข้าม

G20 Summit
ประชุมสุดยอด G20 วันที่ 9 กันยายน 2023 (ภาพโดย Ludovic MARIN / POOL / AFP)

G20 Summit 2023 การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลก ณ ประเทศอินเดีย จบลงไปโดยมี 2-3 เรื่องที่ถูกไฮไลต์

เรื่องแรกคือ การรับ “สหภาพแอฟริกา” (African Union) เข้าเป็นสมาชิกถาวรของ G20 เรื่องที่สองคือ แถลงการณ์ต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีการประณามการใช้กำลังเพื่อผลประโยชน์เหนือดินแดน แต่ไม่วิพากษ์วิจารณ์รัสเซียโดยตรง ทำให้ยูเครนไม่พอใจ และอีกเรื่องคือ การลดทอนความยิ่งใหญ่ของจีนในงานนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยเหล่าพันธมิตรชาติตะวันตก

นอกจากการอยู่ในดงขั้วตรงข้ามที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ความยิ่งใหญ่ของจีนถูกบดบังแล้ว งานนี้บารมีและความยิ่งใหญ่ของจีนก็ถูกทำให้ลดน้อยลงโดยจีนเอง เนื่องจาก “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ผู้นำสูงสุดของประเทศไม่ได้ไปร่วมประชุม แต่ส่ง “นายกฯหลี่ เฉียง” ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในเวทีโลกไปแทน

G20 summit in India
หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย วันที่ 9 กันยายน 2023 (ภาพโดย Evan Vucci/ Pool via REUTERS)

ขณะที่ “อินเดีย” คู่แข่งรายสำคัญของจีน ซึ่งเป็นประธาน-เจ้าภาพจัดการประชุม G20 ปีนี้ “ได้หน้า” อย่างเต็มที่ ในฐานะ “ผู้ประนีประนอม” ที่เจรจาดึงทุกฝ่ายมารวมตัวพูดคุยกันได้ ซึ่งทำให้อินเดียได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากชาติสมาชิก และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าอินเดียมีบทบาทเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) ที่ทั้งฝั่งตะวันตกและจีนต้องการมีอิทธิพลครอบงำ

ฝั่งจีนเรียกได้ว่าโดน “จัดหนัก” นอกจากโดนตอบโต้โดยการทำข้อตกลงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสหรัฐกับประเทศในเอเชียกลาง (ซึ่งก่อนหน้านี้จีนขยายอิทธิพลเข้าไปผ่านโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt abd Road Initiative) แล้ว จีนยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป โดยที่นายกฯหลี่ เฉียง ไม่ได้ตอบโต้เหมือนอย่างที่ประธานาธิบดีสีเคยทำ

สหรัฐได้ประกาศข้อตกลงกับอินเดีย สหภาพยุโรป ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง เพื่อพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟและการเดินเรือทั่วภูมิภาค ซึ่งไบเดนยกย่องว่าเป็น “การลงทุนระดับภูมิภาคที่เป็นตัวพลิกเกม” โดยประสานข้อตกลงด้วยการจับมือสามทาง ประกอบด้วย ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับโมดี นายกฯอินเดีย และมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย

INDIA-G20-SUMMIT
นเรนทรา โมดี ยากรัฐมนตรีอินเดีย กับป้ายประเทศภารัต (Bharat) ในการประชุมสุดยอด G20 วันที่ 9 กันยายน 2023 (ภาพโดย Ludovic MARIN / POOL / AFP)

แม้ว่าสหรัฐปฏิเสธว่าดีลนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในอ่าวเปอร์เซีย แต่ทางการฝรั่งเศสก็ยอมรับว่า โครงการนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับโครงการ Belt and Road ของสี จิ้นผิง ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร

อีกการประชุมที่ถูกมองว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากในการประชุมสุดยอด G20 ครั้งนี้ คือ ไบเดนประชุมหารือกับประธาน “เวิลด์แบงก์” ประธานาธิบดีบราซิล และประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์ (BRICS) เกี่ยวกับความพยายามในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้กับประเทศกำลังพัฒนา

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) หลายคนกล่าวว่า จีนทำตัวเอง ด้วยการออกห่างจากการประชุมสุดยอด G20 ทำให้อินเดียสามารถประสานความเป็นผู้นำในโลกใต้ได้ และทำให้สหรัฐและยุโรปมีเส้นทางที่ชัดเจนในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศตลาดเกิดใหม่

INDIA-G20-SUMMIT
ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการประชุมสุดยอด G20 วันที่ 9 กันยายน 2023 (ภาพโดย Evan Vucci / POOL / AFP)

นอกจากนั้น ในระหว่างการประชุม “ริชี ซูนัค” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวหาว่า จีนขัดขวางความคืบหน้าในการบรรลุแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากในช่วงหนึ่งของการประชุม จีนได้ยกประเด็นการเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาถกในการอภิปรายเรื่องการดำเนินการด้านสภาพอากาศ และนั่นทำให้ “เจค ซัลลิแวน” ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งเป็นคนที่สนับสนุนการควบคุมการส่งออกชิปของสหรัฐไปยังจีน ประณามแนวคิดของจีนที่จะจับเอา “สภาพอากาศ” เป็นตัวประกัน ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

หลังประชุม G20 ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐ ออกเดินทางไปเยือนเวียดนาม และเมื่อถึงเวียดนาม เขากล่าวถึงจีนว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจลดแนวโน้มที่รัฐบาลจีนจะรุกรานไต้หวัน เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศทำให้ประธานาธิบดีจีน “มีงานเต็มมือ”

“ผมต้องการเห็นจีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ… แต่ผมอยากเห็นพวกเขาประสบความสำเร็จตามกฎเกณฑ์” ไบเดนกล่าวเหน็บจีน

INDIA-G20-SUMMIT
ประชุมสุดยอด G20 วันที่ 9 กันยายน 2023 (ภาพโดย Evan Vucci / POOL / AFP)

ด้านความเคลื่อนไหวจากฝั่งจีน หลังการประชุมจบลง ไม่มีรายงานว่าหลี่ เฉียง ได้ตอบโต้อย่างมีนัยสำคัญ

แต่หลังจากที่กลุ่มคลังสมอง (think tank) ในจีนวิพากษ์วิจารณ์อินเดียว่า “บ่อนทำลายบรรยากาศความร่วมมือ” โดยการผลักดันเฉพาะประเด็นของตัวเอง สำนักข่าวซินหัวก็ได้รายงานข่าวว่า ทางการจีนเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ได้กล่าวกับบรรดาผู้นำในการประชุมว่า กลุ่ม G20 “ต้องการความสามัคคี แทนที่จะเป็นการแบ่งแยก ต้องการความร่วมมือ แทนที่จะเผชิญหน้า” 

คำพูดของนายกฯหลี่ เฉียง ยังคงเน้นย้ำใจความสำคัญที่จีนย้ำเสมอมาก่อนหน้านี้ว่า จีนไม่ต้องการให้โลกเกิดความแตกแยก ไม่ต้องการให้มีการแบ่งขั้ว เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐที่ยืนยันว่า สหรัฐก็ไม่ได้ต้องการแบ่งขั้วกับจีน แต่การกระทำของทั้งสองฝ่ายที่ตอบโต้กันไปมานั้น ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันกับคำพูด