ซัมมิทออโตขอเอี่ยวมอ’ไซค์ EV ขึ้นไลน์ “บลูชาร์ก” ชิงตลาด 2 หมื่นคัน/ปี

ซัมมิทออโต

“ซัมมิท ออโตฯ” เดินหน้าลุยขึ้นไลน์ประกอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากเซี่ยงไฮ้ ยี่ห้อ “บลูชาร์ก” ที่โรงงานอยุธยา ลุ้นเปิดตัวได้ทันปลายปีนี้ หวังให้ลูกค้าไทยประทับใจราคา-คุณภาพ ตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ 10-15% ของตลาดมอเตอร์ไซค์อีวี

นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ Sharkgulf Technology (China) ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ “บลูชาร์ก” (Blueshark) จากเซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่ผ่านมา โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด และเตรียมความพร้อมในการทำตลาดในประเทศไทย

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นพันธมิตรธุรกิจ ทั้งด้านการผลิต การประกอบแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมถึงการขายเพื่อผลักดันนวัตกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย มีสัดส่วนความร่วมทุนอยู่ที่ซัมมิท 60% และ Sharkgulf 40%

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะแนะนำรถจักรยานยนต์ “บลูชาร์ก” ออกสู่ตลาดประเทศไทยในช่วงกลางปี หรือปลายปี 2567 โดยยังพิจารณาว่าจะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายก่อน หรือรอรถที่ประกอบจากโรงงานในประเทศไทย เนื่องจากตามแผนแล้ว ราว ๆ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จะเริ่มผลิต โดยจะใช้โรงงานของซัมมิท ออโตฯ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ผลิตสำหรับรองรับความต้องการภายในประเทศไทย และส่งออกในอนาคต

Advertisment

“คงต้องดูว่าจะเริ่มต้นด้วยการนำเข้ารถมาจำหน่ายหรือจะใช้รถที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยเลย เพราะเราต้องพิจารณาเรื่องของราคาและต้นทุนการผลิตอีกครั้ง วันนี้เราต้องศึกษารายละเอียดทั้งราคาจำหน่าย ภาษี และอีกหลาย ๆ อย่างประกอบกัน เราไม่อยากเปิดตัวออกมาแล้วมีภาพจำว่ารถของเราแพง”

นายกรกฤชกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรงงานซัมมิท ออโตฯ ที่จะใช้สำหรับการรองรับการผลิตและประกอบรถจักรยานยนต์อีวี “บลูชาร์ก” นั้น ถือว่ามีความพร้อมค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้าที่บริษัทได้รับจากประกอบรถจักรยานยนต์อีวีให้กับแบรนด์ ต่างมากแล้วอย่างน้อย 2-3 แบรนด์

ส่วนแผนขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายนั้นจะตั้งศูนย์จัดจำหน่ายคาดว่าจะลงทุนต่อสาขาไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังหวังว่ารถจักรยานยนต์ “บลูชาร์ก” (Blueshark) จะสามารถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีอีวี 3.5 ได้ด้วย เพราะมีแผนลงทุนขึ้นไลน์ผลิต แม้จะเป็นการปรับปรุงจากไลน์ผลิตที่มีอยู่เดิม แต่บริษัทก็จะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องด้วย

Advertisment

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาแผนการลงทุนในส่วนของสถานีชาร์จลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อแห่ง โดยได้มองหาพาร์ตเนอร์ในการร่วมลงทุนตรงนี้อยู่

ทั้งนี้การสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของมอเตอร์ไซค์อีวี โดยเฉพาะการอุดหนุนราคา รวมถึงภาษีนำเข้ารถทั้งคัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 40% เพื่อให้แข่งขันกับรถน้ำมันได้ จากความต้องการของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ 2 ล้านคันต่อปี ในจำนวนนี้คิดเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1% หรือราว 20,000 คันต่อปี

โดยบริษัทตั้งเป้าจะมียอดขายไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 คันต่อปี หรือ 10-15% ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงเริ่มต้นจะทำตลาดในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน