คำเตือนที่น่ากลัวจาก IMF และเวิลด์แบงก์ ถึงเศรษฐกิจโลก

คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ IMF และอาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลก ในการประชุมร่วมประจำปี ที่โมร็อกโก วันที่ 12 ตุลาคม 2023
คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ IMF และอาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลก ในการประชุมร่วมประจำปี ที่โมร็อกโก วันที่ 12 ตุลาคม 2023 (ภาพโดย FADEL SENNA / AFP)

ห้วงสัปดาห์วันที่ 9-15 ตุลาคม 2023 ผู้กำหนดนโยบายการเงินและการคลังทั่วโลกไปรวมตัวกันอยู่ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก ในการประชุมร่วมประจำปีของ “เวิลด์แบงก์” หรือธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

IMF เผยแพร่รายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก” ฉบับใหม่ล่าสุดในงาน ซึ่งรายงานนี้กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกว่า “ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ” เปรียบเหมือน “คนเดินกะโผลกกะเผลก ไม่สามารถวิ่งได้” โดย IMF ยังคงคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีโลกปีนี้ไว้ที่ 3% ชะลอลงจากอัตราการเติบโต 3.5% ในปี 2022 แต่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2024 เหลือโต 2.9% จากคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมว่าจะโต 3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตระหว่างปี 2000-2019 ที่โตเฉลี่ยปีละ 3.8%

ในการประชุมร่วมประจำปีของ IMF กับเวิลด์แบงก์มีประเด็นน่าสนใจมากมาย ที่สำคัญคือ “คำเตือน” ที่มีอยู่ในแถลงการณ์ร่วมของ “คริสตาลินา จอร์เจียวา” (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการ IMF และ “อาเจย์ บังกา” (Ajay Banga) ประธานธนาคารโลก ร่วมด้วย นาเดีย เฟตทาห์ (Nadia Fettah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังแห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก และ อับเดลลาติฟ เจารีห์ (Abdellatif Jouahri)  ผู้ว่าการธนาคารโมร็อกโก และในการประชุม-สัมมนาต่าง ๆ

IMF และธนาคารโลกเห็นตรงกันว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในระยะกลางอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ร่วมของสององค์กรบอกถึงความน่ากังวลของเศรษฐกิจโลกว่า “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องปรากฏให้เห็นชัดเจน ในขณะที่หลายประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อเอาชนะอัตราเงินเฟ้อที่สูง หนี้ที่สูง และการขาดแคลนงบประมาณที่จะใช้เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสภาพภูมิอากาศ และเพื่อจัดการกับความยากจน ความไม่เท่าเทียม และความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเจอภาวะช็อกมากขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนา การจ้างงาน-การมีงานทำ และมาตรฐานการดำรงชีพ ซึ่งเกิดขึ้นในระดับที่ไม่เท่ากันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างหนักมากเป็นพิเศษ ความแตกต่างของรายได้ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วลึกยิ่งขึ้น

Advertisment

“และโลกเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะขจัดความยากจนขั้นรุนแรงภายในปี 2030” แถลงการณ์ร่วมระบุ

แถลงการณ์ร่วมบอกอีกว่า ความเสี่ยงหลักและปัจจัยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (disruptive force) ซึ่งเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่นั้นมีการพัฒนาขึ้น ทั้งภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นทั้งด้านรายได้และด้านโอกาส และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ แต่ก็มีโอกาสมาด้วยเช่นกัน

Advertisment

ซึ่งแถลงการณ์แสดงความกังวลกับปัจจัยท้าทายเหล่านี้ และเรียกร้องว่า “ไม่ควรมีประเทศใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

คำเตือนที่สำคัญในเรื่อง “หนี้” เป็นหนึ่งหัวข้อสัมมนาหลักในงาน นำโดยกรรมการผู้จัดการ IMF และประธานธนาคารโลก สัมมนาหัวข้อนี้เน้นพูดคุยเพื่อสำรวจทางเลือกและความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงด้านหนี้ได้อย่างไร รวมถึงหารือถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนจากประชาคมโลก

“ประเทศที่มีรายได้น้อยและเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมากกำลังเผชิญกับภาระหนี้มหาศาล ซึ่งจำกัดความสามารถในการลงทุนในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และโครงสร้างพื้นฐาน” ธนาคารโลกและ IMF แสดงความกังวล

นอกจากนั้น IMF เตือนในรายงานเสถียรภาพทางการเงินโลก (Global Financial Stability Report) ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะทำให้ผู้กู้ยืมบางรายอยู่ในสถานะที่ “ไม่มั่นคง” มากขึ้น โดยประมาณ 5% ของธนาคารทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดทางการเงินหากอัตราดอกเบี้ยยังคงสูงต่อไปอีกนาน และอีก 30% ของธนาคารทั่วโลก (รวมถึงธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) จะมีความเสี่ยงหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่ต่ำเป็นเวลานานพร้อมกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูง