
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปรียบเศรษฐกิจโลกเหมือนคนกำลังเดินกะเผลก วิ่งไม่ไหว คาดการณ์ปี 2023 โตได้แค่ 3.0% ชะลอลงจากอัตราการเติบโต 3.5% ในปี 2022 และหั่นคาดการณ์จีดีพีจีนลง
วันที่ 10 ตุลาคม 2023 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับใหม่ “WORLD ECONOMIC OUTLOOK” ฉบับปรับปรุงเดือนตุลาคม 2023
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
ในรายงานฉบับใหม่นี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2023 นี้จะโต 3% ชะลอลงจากอัตราการเติบโต 3.5% ในปี 2022 ซึ่งเป็นการคงคาดการณ์การเติบโตไว้เท่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ (เดือนกรกฎาคม) และคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2024 โต 2.9% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตระหว่างปี 2000-2019 ที่โตเฉลี่ยปีละ 3.8%
เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วคาดว่าจะโตชะลอตัวจาก 2.6% ในปี 2022 เป็นโตได้เพียง 1.5% ในปี 2023 นี้ และ 1.4% ในปี 2024 เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดกัดกร่อนการเติบโต
เศรษฐกิจประเทศเยอรมนีจะแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยปีนี้จะหดตัว 0.5% ก่อนจะโตได้ 0.9% ในปีหน้า
ส่วนประเทศสเปน ซึ่งทำผลงานได้ดีที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วในปีนี้ ก็จะโตได้เพียง 2.5% และคาดว่าจะโตชะลอลงเป็น 1.7% ในปีหน้า
ส่วนสหรัฐอเมริกา IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 2.1% ในปีนี้ และโต 1.5% ในปีหน้า
สำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าการเติบโตจะลดลงเล็กน้อย จาก 4.1% ในปี 2022 เป็น 4.0% ในปี 2023 และ 2024
สำหรับประเทศจีน IMF คาดว่าจะโตได้ 5.0% เท่ากับเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ แต่เป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมที่คาดว่าจะโต 5.2%
ส่วนประเทศไทย IMF คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโตได้เพียง 2.7% โดยเติบโตขึ้นในอัตราเล็กน้อยจากปี 2565 ที่โต 2.6% และคาดว่าจะเติบโตได้ 3.2% ในปี 2567

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 8.7% ในปี 2022 เป็น 6.9% ในปี 2023 แล้วจะชะลอลงเป็น 5.8% ในปี 2023 และเป็น 4.5% ในปี 2024 เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะกลับไปสู่เป้าหมายได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2025
ปิแอร์-โอลิเวียร์ กูรินชาส (Pierre-Olivier Gourinchas) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF เขียนในบล็อกของ IMF ว่า เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้า ๆ จากผลกระทบของโรคระบาด การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และวิกฤตค่าครองชีพ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วเห็นว่า ความ resilient (ความสามารถในการรับมือและฟื้นคืนจากวิกฤต) ของเศรษฐกิจโลกนั้นน่าทึ่งมาก
แม้ว่าตลาดพลังงานและอาหารจะหยุดชะงักจากสงคราม และมีการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงโดยไม่ถึงขั้นหยุดชะงัก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงช้าและไม่สม่ำเสมอ โดยมีความแตกต่างกันเพิ่มมากขึ้น
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF เปรียบเปรยว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังเดินกะโผลกกะเผลก ไม่วิ่งเร็ว”
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.2 ในปี 2565 เมื่อเทียบเป็นรายปี มาเป็นร้อยละ 5.9 ในปีนี้ และร้อยละ 4.8 ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ก็คาดว่าจะลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะค่อย ๆ มากขึ้นก็ตาม เป็นร้อยละ 4.5 ในปีหน้า ประเทศส่วนใหญ่ไม่น่าจะคืนอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายจนกว่าจะถึงปี 2568
เขาบอกอีกว่า การคาดการณ์ของ IMF มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การลงจอดอย่างนุ่มนวลมากขึ้น กล่าวคือ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้โดยไม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมาก
ประเด็นสำคัญที่ IMF ชี้คือ การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะโตแบบไม่พร้อมกัน มีความแตกต่างอย่างมากของอัตราการเติบโตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่เติบโตช้ากว่าประเทศกำลังพัฒนา
“ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว แนวโน้มการเติบโตของสหรัฐปรับปรุงดีขึ้นโดยการบริโภคและการลงทุนที่ฟื้นตัวได้ ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนมีการปรับลดลง”
“ประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างไม่คาดคิด ยกเว้นประเทศจีน ซึ่งเผชิญกับอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ระบุ
ส่วนกรณีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นล่าสุด IMF บอกว่าจะติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ