ธนาคารโลกเตือนปีหน้า เอเชียโตต่ำสุดในรอบ 50 ปี

ธนาคารโลกเตือน
ภาพโดย MANAN VATSYAYANA / AFP
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

รายงานการประเมินสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ ชี้ให้เห็นถึงสารพัดปัจจัยท้าทายต่าง ๆ นานา อันเป็นเหตุให้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในภูมิภาคนี้จะขยายตัว ในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2024 เศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงจีนด้วย จะขยายตัวเพียงแค่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในรายงานเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งคาดไว้ว่าจะขยายตัว 4.8 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าการคาดการณ์การขยายตัวในปี 2023 ซึ่งอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ลงไปอีก

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อทั้งภูมิภาคก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งยิ่งนับวันยิ่งน่าวิตกมากขึ้นตามลำดับ ธนาคารโลกระบุว่า ดัชนีชี้สภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ ของจีนล้วนอยู่ในสภาพอ่อนแอ และคาดว่าจีดีพีจีนจะขยายตัวเพียง 4.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2024 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนเมษายน

“อาทิตยา มัทตู” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกชี้ว่า ยอดค้าปลีกในจีนลดวูบลงสู่ระดับต่ำกว่าก่อนหน้าวิกฤตโควิดแล้ว ในขณะที่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ก็ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยชะงักงัน, หนี้ครัวเรือนถีบตัวสูงขึ้น พร้อม ๆ กับที่ภาคเอกชนชะลอหรือยุติการลงทุน

จะแก้ปัญหาชะลอตัวนี้ได้ จีนต้อง “ปฏิรูป” เศรษฐกิจครั้งใหญ่ พลิกโฉมหน้าจากการใช้ภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนเป็นเครื่องผลักดันให้เกิดการขยายตัว มาเป็นการพัฒนาภาคบริการอย่าง “ลึกซึ้ง” เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการ “ปฏิวัติดิจิทัล” ให้ได้ ซึ่งท้าทายไม่ใช่น้อยสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียทุกประเทศ

นอกจากการชะลอตัวของจีนจะกระทบต่อทุกประเทศในภูมิภาคอย่างหนักแล้ว ดีมานด์ที่อ่อนตัวลงทั่วโลกก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนาในเอเชียอย่างมาก การส่งออกของอินโดนีเซียและมาเลเซียลดลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในจีนและเวียดนาม การส่งออกก็ลดลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2022 ในเวลาเดียวกับที่ระดับหนี้สินทั้งของภาครัฐ, บริษัทธุรกิจและครัวเรือน พากันถีบตัวสูงขึ้น ปิดโอกาสการขยายตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก

Advertisment

ในเวลาเดียวกัน อาทิตยา มัทตู ชี้ว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งเคยเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อสหรัฐอเมริกาตรากฎหมายออกมา 2 ฉบับในปี 2022 ที่ผ่านมา

หนึ่งคือ รัฐบัญญัติว่าด้วยการลดอัตราเงินเฟ้อ (ไออาร์เอ) อีกหนึ่งคือ รัฐบัญญัติว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่ากฎหมายชิป

Advertisment

แต่เดิมความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทำให้หลายบริษัทหันมาลงทุนเพื่อการผลิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อหวังผลให้เกิดการขยายตัวของโรงงานการผลิตในสหรัฐอเมริกาและลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนลง กลับทำให้การค้าและการลงทุนที่เคยหลั่งไหลเข้ามา เลี่ยงหนีออกไปจากทั้งภูมิภาคไปเหมือน ๆ กันทั้งหมด เพราะข้อกำหนดว่าด้วยเรื่อง “โลคอลคอนเทนต์” หรือปริมาณชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่ต้องมีในผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ

ธนาคารโลกระบุว่า ตัวเลขการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล จากบรรดาประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และไทย ล้วนลดลงอย่างชัดเจนในทันทีที่นโยบายนี้ของสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้

ในขณะที่การค้าของสหรัฐอเมริกากับประเทศอย่างแคนาดาหรือเม็กซิโก ไม่ได้ลดลง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้รับการ “ยกเว้น” จากข้อกำหนดด้านโลคอลคอนเทนต์ ซึ่งบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ว่า เป็นการดำเนินการการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

เช่น อินโดนีเซียกำลังเจรจาต่อรองให้การส่งออกนิกเกิลของตนไปยังสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันกับแคนาดาและเม็กซิโก

ส่วนเวียดนามกำลังล็อบบี้ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน ให้ทางการสหรัฐอเมริกาให้เครดิตด้านภาษีให้ครอบคลุมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของตนที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่

หลังจากที่ยอดส่งออกลดลงถึง 19.1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงตั้งแต่มกราคม-สิงหาคมปีนี้นั่นเอง