เศรษฐกิจเอเชียไม่ฟื้น ข้อมูลใหม่เผยแนวโน้มส่งออกยังแย่ต่อไป 

จีน โรงงาน เศรษฐกิจ
โรงงานในประเทศจีน (จัดหาภาพโดย AFP / China OUT)

เศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่มีความหวังว่าจะสดใสในเร็ว ๆ นี้ เมื่อ “ภาคการส่งออก” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของหลายประเทศส่งสัญญาณกลับไปแย่ลงอีกครั้ง  

รอยเตอร์ (Reuters) รายงานในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 ว่า กิจกรรมการผลิตของโรงงานในหลายประเทศหดตัวลง โดยกิจกรรมการผลิตของโรงงานในจีนกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง หลังจากที่ดีขึ้นในเดือนกันยายน ส่งผลให้โอกาสในการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในเอเชียถูกบีบคั้นจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลงและราคาสินค้าที่สูงขึ้น

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งสำรวจโดยไฉซิน (Caixin) ร่วมกับเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ที่เปิดเผยในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ พบว่าค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนตุลาคม 2023 อยู่ที่ 49.5 จุด ลดลงจากเดือนกันยายนซึ่งอยู่ที่ 50.6 จุด กลับไปอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นจุดตัดที่ชี้วัดภาวะการเติบโตหรือหดตัวอีกครั้ง 

ขณะที่ PMI ของทางการจีน (โดยทั่วไปจะสูงกว่าที่เอกชนจัดทำ) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2023 ก็แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตหดตัวลงอีกอย่างไม่คาดคิด ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับความหวังล่าสุดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก 

หวัง เจ๋อ (Wang Zhe) นักเศรษฐศาสตร์จากไฉซิน อินไซต์ กรุ๊ป (Caixin Insight Group) กล่าวถึงผลการสำรวจของจีนว่า โดยรวมแล้วผู้ผลิตไม่ค่อยมีความร่าเริงในเดือนตุลาคม 

เขาบอกว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณว่าถึงจุดต่ำสุดแล้ว ไม่ต่ำลงไปกว่านั้นแล้ว แต่พื้นฐานของการฟื้นตัวยังไม่แข็งแกร่ง อุปสงค์ยังอ่อนแอ ความไม่แน่นอนทั้งภายในและภายนอกยังคงอยู่ และความเชื่อมั่นยังคงค่อนข้างอ่อนแอ

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการชะลอตัวของจีนกำลังเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งผู้ผลิตต้องพึ่งพาอุปสงค์จากจีนเป็นอย่างมาก

กิจกรรมของโรงงานในญี่ปุ่นหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนตุลาคม อิงตามรายงาน PMI ล่าสุดของธนาคารออจีบุน (au Jibun) ขณะที่ตัวเลขทางการของรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าผลผลิตจากโรงงานของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดไว้ในเดือนกันยายนอย่างมาก เนื่องจากอุปสงค์ลดลงอย่างมาก 

อุปทานที่ซบเซาของจีนส่งผลถึงผู้ผลิตเครื่องจักรของญี่ปุ่น เช่น ฟานัค (Fanuc) และ มารูตะ (Murata Manufacturing) ที่รายงานผลประกอบการรอบ 6 เดือนที่อ่อนแอ

ส่วนเกาหลีใต้ กิจกรรมการผลิตของโรงงานลดลงเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน 

ในขณะที่ PMI ของไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย ก็สะท้อนกิจกรรมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ฝั่งอินเดียซึ่งดีกว่าที่อื่นที่ว่ามาก็เห็นการเติบโตของกิจกรรมการผลิตชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนตุลาคม เนื่องจากดีมานด์ที่ลดลง และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 

ชีวาน แทนดอน (Shivaan Tandon) นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายตลาดเกิดใหม่ในเอเชียของบริษัทวิจัย แคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว PMI เดือนตุลาคมของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียลดลงอีกครั้งอยู่ในแดน “หดตัว” (ต่ำกว่า 50 จุด) 

“แนวโน้มการผลิตในภูมิภาคนี้ยังคงซบเซาในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากระดับสินค้าคงคลังที่สูงขึ้น และอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การผลิตลดลง” 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าการฟื้นตัวที่อ่อนแอของจีนและความเสี่ยงของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยืดเยื้อกว่าเดิม อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย 

ส่วนในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในปีหน้าลงเหลือเติบโต 4.2% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านั้นในเดือนเมษายน 2023 ที่คาดไว้ 4.4% และอัตราการเติบโตของปีหน้าลดลงจากการคาดการณ์การเติบโตของปีนี้ที่คาดว่าจะโต 4.6%