จุดจบของ “ราชาคริปโต” แซม แบงก์แมน-ฟรีด

US-CHINA-CRYPTO-FRAUD-BRIBERY-FTX
Former FTX chief Sam Bankman-Fried leaves the Federal Courthouse following a bail hearing ahead of his October trial, in New York City on July 26, 2023. (ภาพโดย ANGELA WEISS / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะลูกขุน 9 คนของศาลเขตนิวยอร์กใต้ มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ขาดว่า แซม แบงก์แมน-ฟรีด อดีตเจ้าพ่อในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซี วัย 31 ปี มีความผิดจริงในทั้ง 7 ข้อหาที่ถูกกล่าวหาในคดีฉ้อโกงและสมคบคิดกันฉ้อโกงที่โด่งดังไปทั่วโลก

แซม แบงก์แมน-ฟรีด หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “เอสบีเอฟ” เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท เอฟทีเอกซ์ บริษัทแลกเปลี่ยนเงินตราดิจิทัล ซึ่งยื่นล้มละลายไปเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในหลายข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการล้มทั้งยืนของบริษัทดังกล่าว ส่งผลให้ลูกค้า, นักลงทุน และเจ้าหนี้ สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมหาศาลถึงหลายพันล้านดอลลาร์

เดเมียน วิลเลียมส์ อัยการประจำศาลเขตนิวยอร์กใต้ ระบุว่า อาชญากรรมของ เอสบีเอฟ จัดได้ว่าเป็น “หนึ่งในการฉ้อโกงทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา” ด้วยแผนฉ้อฉลและกลโกง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เอสบีเอฟ ก้าวขึ้นสู่ความเป็น “ราชาแห่งคริปโต”

               

วิลเลียมส์บอกว่า อุตสาหกรรมคริปโตฯอาจเป็นเรื่องใหม่ เอสบีเอฟเอง ก็อาจเป็นคนรุ่นใหม่ แต่วิธีการโกง การฉ้อฉลหลอกลวงที่เกิดขึ้นนั้น เก่าแก่ซ้ำซาก เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้นจึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับใครก็ตามที่ไม่อยากตกเป็นเหยื่อต่อไปในอนาคต

พนักงานอัยการกล่าวหาเอสบีเอฟ ว่า กระทำการอันเป็นการฉ้อฉลเพื่อนำเอาเงินของลูกค้าและนักลงทุนของ เอฟทีเอกซ์ ไปใช้ลงทุนในบริษัทอื่น ๆ และอีกหลายกิจกรรม ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยอาศัยกลไกผ่านทาง อลาเมดา รีเสิร์ช กิจการในเครือ

ทั้งเอฟทีเอกซ์ และอลาเมดา รีเสิร์ช ก่อตั้งโดยเอสบีเอฟ ตัวเอฟทีเอกซ์นั้นมีชื่อโด่งดังและครั้งหนึ่งเคยถูกตีมูลค่าไว้สูงถึง 32,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อตอนที่พีกสุด ๆ นั้น ทำรายได้ต่อปีสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่า แต่ละวันมีลูกค้าเข้ามาซื้อขายเงินดิจิทัลผ่านเอฟทีเอกซ์ เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

คดีนี้นอกจากจะมีหลักฐานจำนวนหนึ่งแล้ว ยังมีพยานสำคัญผูกมัดเอสบีเอฟ อีก 5 ปาก ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงอยู่ในฐานะผู้ช่วยของเอสบีเอฟ ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งหมดถูกกล่าวหาเช่นเดียวกัน และยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และยอมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

พวกเขาให้การว่า เอสบีเอฟ เป็นผู้สั่งการและกำกับให้มีการยักย้ายถ่ายเทเงินจากเอฟทีเอกซ์, เป็นผู้สั่งให้จัดทำ “ประตูดิจิทัลลับ” เพื่อให้อลาเมดาฯสามารถถอนเงินเป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์จากเอฟทีเอกซ์ได้โดยง่าย แล้วยังกำหนดให้เขียนโปรแกรม “ออโต-ดีลีต” ไว้ในแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกันเพื่อทำลายบันทึกการสื่อสารในการกระทำผิดกฎหมายออกไปโดยอัตโนมัติ

เงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายเหล่านี้ เอสบีเอฟ นำไปเพื่อลงทุนในบริษัทต่าง ๆ และยังใช้เพื่อ “อวดความมั่งคั่ง” อย่างเช่น นำไปใช้สนับสนุนดารา-นักกีฬา, ซื้อสิทธิในการใช้ชื่อสนามแข่งของทีมกีฬาอย่าง ไมอามี ฮีต, จ่ายกว่า 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในบาฮามาส, อีกกว่า 30 ล้านดอลลาร์ สำหรับ “ปาร์ตี้เพนต์เฮาส์”, ซื้อบ้านริมทะเลให้พ่อกับแม่อีกเป็นเงินเกือบ 17 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีการกล่าวหาว่า ใช้อีกไม่น้อยเพื่อเอาใจและสนับสนุนพรรคและนักการเมือง

กระทั่งครั้งหนึ่ง เอสบีเอฟ ยังถึงกับเคยพูดคุยกับพ่อและแม่ว่า จะให้ “เงินสด” สำหรับ “ติดกระเป๋า” ไว้สักก้อนเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ปัญหาของเอสบีเอฟ และเอฟทีเอกซ์ เริ่มเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดคริปโตทรุดตัวอย่างหนักหน่วงและรวดเร็วในราวพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2022 ค่าเงินดิจิทัลตกต่ำหนัก ลูกค้าและนักลงทุนเริ่มขอถอนเงินทุน แต่เอฟทีเอกซ์ไม่มีสภาพคล่องพอที่จะตอบสนอง พอถึงปลายเดือนตุลาคม ปัญหาเอฟทีเอกซ์รุนแรงขึ้น ต้องการเงินนับเป็นพันล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายคืนลูกค้าและนักลงทุน จนต้องยื่นขอล้มละลายเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

เอสบีเอฟ ถูกจับกุมที่ บาฮามาส ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั่นเอง

อาชญากรรมที่เขาก่อ แม้จะสลับซับซ้อน เชื่อมโยงกับทักษะเชิงดิจิทัลไม่น้อย แต่ก็แทบไม่มีอะไรต่างจาก “แชร์ลูกโซ่” หรือ “กลโกงพีระมิด” นั่นเอง