FTX : แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ ผู้ก่อตั้งบริษัทซื้อขายคริปโตฯ อันดับ 2 ของโลกถูกจับกุมแล้ว

สำนักอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ตำรวจบาฮามาสได้บุกจับนายแซม แบงค์แมน-ฟรายด์​ ผู้ก่อตั้งบริษัท เอฟทีเอ็กซ์ ที่บ้านพักของเขาในบาฮามาสแล้ว

ทางการบาฮามาสระบุว่า ได้รับคำร้องอย่างเป็นทางการจากทางการสหรัฐฯ ที่ตั้งข้อหานายแบงค์แมน ฟรายด์

เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท เอฟทีเอ็กซ์ยื่นขอล้มละลายในสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบได้

บริษัท เอฟทีเอ็กซ์ ถือเป็นผู้ให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีการซื้อขายเงินดิจิทัลกว่า 3 แสนล้านบาททุกวัน

ผู้ก่อตั้ง FTX ถูกจับแล้ว
Getty Images ผู้ก่อตั้ง FTX ถูกจับแล้ว

สำนักอัยการสหรัฐฯ ในแมนฮัตตัน ทวีตข้อความว่า “เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ทางการบาฮามาส ได้จับกมซามูเอล แบงค์แมน-ฟรายด์ ตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐฯ… เราคาดว่าจะเริ่มเปิดเผยคำฟ้องได้ในเช้าวันนี้ และเราถึงจะกล่าวอะไรได้มากกว่านี้”

ก่อนหน้านี้ แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักจากบ้านพักของเขาในบาฮามาส รวมถึงบีบีซีด้วย โดยยอมรับว่า เขาบริหารงานผิดพลาด แต่ยืนกรานว่า ไม่ได้ฉ้อโกง

สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซี

แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้เชิญทีมข่าวบีบีซีไปยังที่พักหรูในบาฮามาส เพื่อให้สัมภาษณ์พิเศษ โดยเขายอมรับกับบีบีซีว่า เขา “ไม่ได้เก่งกาจอย่างที่เขาคิดว่าตนเองเป็น”

เขาเคยยอมรับว่า ตนเองกังวลว่าจะถูกจับกุม “ในช่วงที่ครุ่นคิดกลางดึก”

แพลตฟอร์มเอฟทีเอ็กซ์ ช่วยให้ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนเงินปกติ กับคริปโตเคอร์เรนซี อาทิ บิทคอยน์ ได้

แต่เมื่อเดือน พ.ย. มีการเปิดโปงว่าบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ และบริษัทอีกแห่งของแบงค์แมน-ฟรายด์ คือ อะลาเมดา รีเสิร์ช กำลังอยู่ในสภาวะการเงินไม่มั่นคง

หลังมีการตีแผ่ข่าวฉาวดังกล่าว ทุกอย่างก็พังทลายจนแบงค์แมน-ฟรายด์ ต้องยื่นล้มละลาย ในเวลาเพียง 8 วัน

ประเมินว่ามีผู้ใช้แพลตฟอร์มเอฟทีเอ็กซ์กว่า 1 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงคริปโตวอลเล็ท และเข้าถึงเงินของตนเองในระบบได้

บีบีซีถามว่า เขามีแผนจะลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อหาเงินมาชดใช้คืนนักลงทุนหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้ และผมจะพยายามถ้าทำได้”

จุดเริ่มต้นสู่จุดจบ

จุดเริ่มต้นสู่จุดจบของ FTX เริ่มจากสำนักข่าวคอยน์เดส ตีแผ่บทความด้านงบดุลของบริษัท อะลาเมดา (บริษัทแรกของแบงค์แมน-ฟรายด์) และปัจจุบัน เป็นบริษัทย่อยของ FTX ว่า งบการเงินของทางบริษัท มีสินทรัพย์ 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สินถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเนื้อในของสินทรัพย์กว่า 1 ใน 3 อยู่ในรูปของเหรียญดิจิทัล FTT คิดเป็นเงินกว่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข่าวนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านตลาดคริปโตตั้งข้อสังเกตถึงงบดุลของ อะลาเมดา ยึดโยงอยู่กับเงินดิจิทัลที่บริษัมแม่ FTX สร้างขึ้นมา ไม่ใช่สินทรัพย์อิสระ

หายนะมาถึง เมื่อคู่แข่งหลักของ FTX อย่าง ไบแนนซ์ (Binance) ประกาศขายโทเคนคริปโตที่เชื่อมโยงกับ FTX ทั้งหมดในอีกไม่กี่วันต่อมา โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารไบแนนซ์ จางเผิง เจ้า ทวิตถึงผู้ติดตามกว่า 7.5 ล้านคนของเขาว่า ทางบริษัทจะขายเงินดิจิทัลเหล่านี้ “จากประเด็นที่เป็นข่าว”

การเทขายเงินคริปโต FTX ของไบแนนซ์ ทำให้ลูกค้าตื่นตระหนกและถอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐออกจาก FTX จนราคาเหรียญ FTT ร่วงหนัก ซึ่งทาง แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้สั่งระงับการถอนเงินออก และพยายามตระเวนระดมเงินมาช่วยเหลือบริษัทของเขาเอง

ช่วงหนึ่ง บริษัท ไบแนนซ์ ประกาศสาธารณะว่าสนใจจะซื้อบริษัท FTX ก่อนจะล่าถอยไป โดยให้เหตุผลว่า ได้รับรายงานหลายฉบับถึง “การบริหารเงินทุนลูกค้าที่ผิดพลาด รวมถึงการสอบสวนของทางการสหรัฐฯ”

ไม่กี่วันต่อมา บริษัท FTX ถูกประกาศสถานะล้มละลาย และ แบงค์แมน-ฟรายด์ ออกมาทวิตขอโทษว่า “ผมขอโทษจริง ๆ ที่เรามาถึงจุดนี้”

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว