ลาวจมวิกฤตหนี้ เงินกีบไร้ค่า ต้องทำอย่างไรไม่ให้ล้มละลาย

เวียงจันทน์ ลาว
ประตูไซ เวียงจันทน์ ประเทศลาว (ภาพโดย Chalinee Thirasupa/REUTERS)

ประเทศลาว เพื่อนบ้านของไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่น่าเป็นห่วงว่าอาจจะกลายเป็นประเทศที่ล้มละลายหรือไม่

สภาพของลาวตอนนี้ คือ หนี้สาธารณะท่วมประเทศ อัตราเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องมา 2 ปีกว่า เงินกีบอ่อนค่าอย่างสาหัส จนมีการกล่าวกันว่า “เงินกีบกลายเป็นแค่กระดาษ” และลาวมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้หนี้ ต้องพยายามขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้พัวพันกันหมดและรวมกันเป็นก้อนวิกฤตขนาดใหญ่

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีของลาวอยู่ที่ 3.75% ในปี 2021 แล้วพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 22.96% ในปี 2022 และ 31.23% ในปี 2023 กระทั่งครึ่งแรกของปี 2024 ก็ยังคงพุ่งต่อ โดยเฉลี่ย 6 เดือนอยู่ที่ 25.27% ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนสินค้าในตลาดโลกสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันและค่าขนส่ง แล้วลาวก็ยิ่งโดนซ้ำเติมหนักด้วยค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นทวีคูณ

สำหรับค่าเงินกีบ ล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2024 อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบลาวต่อดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ประมาณ 22,168 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสำหรับอัตราซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดมืดนั้นเงินกีบลาวมีค่าต่ำกว่านี้มาก เนื่องจากลาวขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ

กราฟแสดงประวัติอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเงินกีบของลาว สืบค้นจาก Google Finance วันที่ 31 กรกฎาคม 2024 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 22,168.80 กีบ

ในภาวะปกติก่อนนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบต่อดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ราว 8,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่วิกฤตเงินอ่อนค่าจะเริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2020 ที่เงินกีบอ่อนค่าหลุด 9,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นหลุด 10,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคม 2021 แล้วร่วงลงแบบฮวบ ๆ

สาเหตุต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจลาวเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของลาวเปราะบาง ลาวมีหนี้สาธารณะสูงมากเนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในขณะที่ประเทศขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง เมื่อทั่วโลกเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว ทำให้ลาวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น บวกกับลาวมีทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ ท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างเร็วและแรง

Advertisment

ลาวมีเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือทุนสำรอง 1,858 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนมีนาคม 2024 ซึ่งสามารถนำเข้าสินค้าเพียงได้ 2.7 เดือนเท่านั้น ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ว่าทุนสำรองควรมีเพียงพอสำหรับการนำเข้าอย่างน้อย 3 เดือน และต้องมีสัดส่วนมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 1 เท่า

สำหรับลาว ทุนสำรองที่มียังไม่เพียงพอต่อการนำเข้า 3 เดือน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งลาวต้องจ่ายหนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันเฉลี่ยปีละมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2023 ธนาคารโลก (World Bank) เตือนลาวว่า หนี้ของลาวอยู่ใน “ระดับวิกฤต” เป็นตัวบ่อนทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและโอกาสในการพัฒนาของลาว ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงลาวในเดือนพฤษภาคม 2023 เช่นกันว่า สิ่งที่ IMF เป็นห่วงคือ หนี้สาธารณะของลาวที่เป็นหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งมูลค่าในรูปเงินกีบจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่เงินกีบอ่อนค่าลง

ข้อมูลตามรายงานของกระทรวงการคลังลาวระบุว่า ณ สิ้นปี 2023 ลาวมีหนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐค้ำประกันรวม 13,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 108% ของจีดีพี ซึ่งส่วนใหญ่ 12,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นหนี้ต่างประเทศ เฉพาะหนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 10,525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของลาวซึ่งเป็นเจ้าของเงินกู้ของรัฐบาลลาวประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

หนี้ลาว

ตามข้อมูลในรายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่เดือนพฤษภาคม 2024 นี้ระบุว่า ในช่วงปี 2020-2023 ลาวได้ขอเลื่อนการชำระหนี้จีนเป็นเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 15% ของจีดีพีลาวปี 2023) อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกมองว่า แม้ว่าการเลื่อนการชำระหนี้จีนจะช่วยบรรเทาภาระหนี้บางส่วนของลาวได้ แต่ดอกเบี้ยและเงินต้นที่ลาวต้องชำระในปี 2023 ก็ยังคงสูง ซึ่งต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ขณะที่การเข้าถึงตลาดทุนระหว่างประเทศของลาวก็ลดน้อยลงพร้อมกับการสูญเสียการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย

ตามการรายงานของ “ลาวเชียน ไทม์ส” (Laotian Times) รัฐบาลลาวมีแผนจะลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงภายในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางลาวประมาณการว่าลาวยังจะต้องชำระหนี้เฉลี่ยในช่วงปี 2024-2028 สูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด ของลาวได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้รัฐบาลลาวดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงและค่าเงินกีบที่อ่อนค่า โดยคาดหวังให้ดำเนินการได้สำเร็จภายใน 1 เดือน หรือภายในวันที่ 15 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ด้านธนาคารกลางลาวให้คำมั่นท่ามกลางความท้าทายว่าจะแก้ไขปัญหาทางการเงินในลาวต่อไปโดยการปรับปรุงนโยบายการเงิน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อลดการนำเข้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบได้

คำถามสำคัญคือลาวจะรอดพ้นจากวิกฤตเหล่านี้ได้หรือไม่ เศรษฐกิจลาวจะเป็นอย่างไรต่อไป ลาวต้องทำอย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นประเทศล้มละลาย ?

การคาดการณ์ครั้งล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนเมษายน 2024 คาดว่าเศรษฐกิจลาวในปีนี้จะเติบโตขึ้น 4% จากปี 2023 และ IMF เผยแพร่มุมมองต่อเศรษฐกิจลาวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2024 หลังจากประชุมติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจลาว (Article IV Consultation) ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจลาวจะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการทำเหมืองแร่ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงมีความท้าทายอย่างมาก แม้จะมีการรัดเข็มขัดทางการคลังแล้ว แต่หนี้สาธารณะก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และความต้องการทางการเงินของรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินกีบยังคงดำเนินต่อไป และอัตราเงินเฟ้อที่สูงยังคงอยู่

IMF กล่าวอีกว่า การปฏิรูปของทางการเพื่อหนุนรายได้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นสิ่งที่น่ายินดี เช่นเดียวกับขั้นตอนเริ่มต้นในการกระชับนโยบายการเงินและปรับปรุงการจัดการทางการเงิน และแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงิน ซึ่งทางการลาวยังคงต้องดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสถียรภาพของสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาค

ก่อนหน้านั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ในรายงานตามติดเศรษฐกิจลาว (Lao Economic Monitor) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2024 ว่า เศรษฐกิจลาวในปี 2024 จะเติบโตได้ 4% ในปี 2024 นี้ เนื่องจากคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคบริการ บวกกับการเติบโตของการลงทุนในภาคพลังงานและเขตเศรษฐกิจพิเศษบางแห่ง อย่างไรก็ตาม การเสื่อมค่าของเงินกีบและอัตราเงินเฟ้อที่สูงจะยังคงอยู่ เนื่องจากลาวขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และมีความจำเป็นที่จะต้องชำระหนี้ต่างประเทศในจำนวนเงินที่สูง

สำหรับคำแนะนำในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ เวิลด์แบงก์แนะนำให้ลาวฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคด้วยความมุ่งมั่นอย่างแข็งขันต่อการปฏิรูปที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการหนี้ การระดมหารายได้ การจัดการการลงทุนภาครัฐ การสร้างเสถียรภาพภาคการเงิน และการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พร้อมระบุว่า การปฏิรูปรายได้ที่ลาวทำเมื่อเร็ว ๆ นี้จะช่วยรักษาสมดุลทางการเงินได้ แต่การปฏิรูปโดยรวมจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนยิ่งขึ้น

อ้างอิง :