ห่วง “ลาว” ล้มละลาย หลังธนาคารไทยแห่โบกมือลา

เศรษฐกิจลาว

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับ สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้รับความสนใจขึ้นมามากอีกครั้ง หลังจากในสังคมออนไลน์มีการพูดถึงข่าวธนาคาร 4 ธนาคารจากประเทศไทยปิดสาขาและเลิกกิจการในประเทศลาว ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสัญญาณอันตรายว่าเศรษฐกิจลาวกำลังจะแย่ลงไปกว่านี้ และอาจเดินไปสู่การเป็นประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้และล้มละลายอย่างศรีลังกาหรือไม่

ลาวเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหนักมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งเงินเฟ้อสูง ค่าเงินกีบอ่อนลงหนัก ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และหนี้สาธารณะสูงมาก

ปัญหาเศรษฐกิจของลาวเริ่มเป็นข่าวดังขึ้นมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2022 จากข่าวขาดแคลนน้ำมัน เป็นผลมาจากเงินกีบของลาวอ่อนค่าลงมาก ทำให้ลาวมีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นหลังจากรัสเซียบุกยูเครน

ต้นตอปัญหาเศรษฐกิจของลาวคือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปราะบาง ลาวมีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในขณะที่ประเทศขาดดุลการคลังต่อเนื่อง การมีหนี้สูงในภาวะที่ทั่วโลกใช้นโยบายการเงินตึงตัว ทำให้ลาวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น บวกกับลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ ท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าลง

ความสนใจและความห่วงใยต่อเศรษฐกิจลาวล่าสุดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ “สำนักงานปกป้องเงินฝาก” ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว (Bank of Lao P.D.R) ได้เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 11 สิงหาคม 2023 เรื่อง “การสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของสำนักงานปกป้องเงินฝากของสาขาธนาคารธุรกิจต่างประเทศจำนวนหนึ่ง”

ธนาคารที่มีการระบุชื่อในเอกสารดังกล่าว ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย สาขาเวียงจันทน์ สิ้นสุดการเป็นสมาชิกของสำนักงานปกป้องเงินฝาก ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว ตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน 2021, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสะหวันนะเขต สิ้นสุด 17 ตุลาคม 2022, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย สาขาเวียงจันทน์ สิ้นสุด 4 กรกฎาคม 2023 และธนาคารกรุงเทพ สาขาปากเซ สิ้นสุด 9 สิงหาคม 2023

ในเอกสารมีบางตอนระบุถึงเหตุผลการเลิกกิจการว่า สาขาของธนาคารจำนวน 4 แห่งได้ยกเลิกกิจการด้วยความสมัครใจ “เนื่องจากสำนักงานใหญ่ของสาขาธนาคารธุรกิจเหล่านี้ได้มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ”

ด้วยความที่ “ธนาคาร” เป็นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นธุรกิจที่ปรับตัวไวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ การที่ธนาคารหลายแห่งปิดสาขาออกมาจากลาว จึงถูกมองว่าเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจลาวกำลังเลวร้ายลงไปกว่านี้อีกใช่หรือไม่ ?

หากดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในเวลานี้ คงต้องบอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจลาวน่าเป็นห่วงมากจริง ๆ เพราะถ้าเทียบในตอนนี้กับเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจลาวเป็นข่าวดัง ๆ ขึ้นมา ตอนนี้ตัวเลขแย่ลงกว่าปีที่แล้วเกือบทุกมิติ

เริ่มจาก “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาวกว่า 90% ในประเทศ โดยเฉพาะคนที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2023 อยู่ที่ 27.80% (YOY) ซึ่ง “ดูเหมือนว่า” เงินเฟ้อของลาวชะลอลงจากช่วงต้นปีที่สูงถึง 40% (YOY) แต่ในความเป็นจริง ไม่มีการชะลอลงแต่อย่างใด ตัวเลขที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากในช่วงต้นปีที่แล้วฐานยังต่ำ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี 2022 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของลาวสูงขึ้นมากแล้ว ดังนั้น เมื่อเข้าสู่กลางปีของปีนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เทียบจากฐานของปีที่แล้วซึ่งสูงอยู่แล้วจึงลดต่ำลงจากช่วงต้นปี

ตัวเลขต่อมาคือ “ค่าเงินกีบ” ที่อ่อนจนแทบไร้ค่า โดยเงินกีบของลาวเป็นสกุลเงินที่ “ราคาถูก” ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ณ เวลานี้ อิงจากข้อมูลการจัดอันดับของ “ฟอร์บส อินเดีย” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนเงิบกีบของลาวต่อเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 19,476.31 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ถ้าเทียบย้อนหลังกลับไป ค่าเงินกีบของลาวอ่อนลงมาอีกจากที่อ่อนจนทะลุ 15,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2022 และถ้าย้อนกลับไปอีก ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจลาวจะปะทุ ค่าเงินกีบของลาวอยู่ราว ๆ 9,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วลดลงเป็น 10,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2021 จากนั้นก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ถึงตอนนี้เรียกว่าอ่อนค่าลงไปกว่าเท่าตัวแล้วจากระดับภาวะปกติ

ส่วนตัวเลข “ดุลการค้า” ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2023 ลาวขาดดุลการค้า 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากเดือนมิถุนายน 2023 (MOM) ที่ขาดดุล 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะต่อจากนี้ ถ้าค่าเงินกีบของลาวยังอ่อนลงอีก ลาวยิ่งจะขาดดุลการค้าในรูปเงินกีบมากขึ้น และชาวลาวจะเดือดร้อนกับการต้องซื้อสินค้าราคาแพงยิ่งขึ้นอีก

ถัดมาที่เรื่อง “หนี้” ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับลาว ตามข้อมูลที่อัพเดตล่าสุด ณ สิ้นปี 2022 ลาวมีหนี้สาธารณะและหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันคิดเป็น 110% ของจีดีพี เป็น “หนี้ต่างประเทศ” ราว 68% ของจีดีพี

เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มมีกระแสเป็นห่วงเป็นใยว่าลาวจะผิดนัดชำระหนี้แล้วล้มละลายเหมือนศรีลังกาหรือไม่ ลาวถูกประเมินว่ายังมีช่องว่างในการกู้ยืมเงินเพื่อมาชำระหนี้เดิมที่ครบกำหนด แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยน และนโยบายการเงินทั่วโลกตึงกว่าเดิม ช่องว่างของลาวก็แคบลง ลาวต้องกู้ยืมในต้นทุนที่สูงขึ้น เหมือนคนหนี้ท่วมหัวที่หากู้เงินมาหมุนยากขึ้น ต้องผ่อนจ่ายขั้นต่ำด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง ๆ วนไปไม่รู้จบ

“เวิลด์แบงก์” บอกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า หนี้ของลาวอยู่ใน “ระดับวิกฤต” เป็นตัวบ่อนทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและโอกาสในการพัฒนาของลาว

“แนวโน้มเศรษฐกิจลาวอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ” เวิลด์แบงก์มองลาวโดยอธิบายว่า ความเสี่ยงภายนอกที่ลาวต้องเผชิญ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจและดีมานด์ที่ต่ำของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ และในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก และสร้างแรงกดดันต่อเงินกีบยิ่งขึ้นอีก

ส่วนความเสี่ยงภายใน มีทั้งความท้าทายในการรีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศ การปฏิรูปโครงสร้างที่ล่าช้า และงบดุลของธนาคารที่ถดถอย การขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจทำลายโอกาสในการฟื้นตัวของภาคเกษตรกรรม การผลิต และการบริการ

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวถึงลาวเมื่อเดือนพฤษภาคมเช่นกันว่า เศรษฐกิจลาวมีโอกาสจะเติบโตได้อย่างมั่นคงในปีนี้ แต่สิ่งที่ไอเอ็มเอฟเป็นห่วงคือ หนี้สาธารณะของลาวที่เป็นหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งมูลค่าในรูปเงินกีบจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่เงินกีบอ่อนค่าลง

“หนี้สาธารณะได้รับการประเมินว่าไม่ยั่งยืน…” ไอเอ็มเอฟเตือน

และนับจากเดือนพฤษภาคมมาจนถึงตอนนี้ ตัวเลขหลาย ๆ อย่างแย่ลง บ่งชี้ว่าลาวเดินอยู่บนเส้นทางที่แคบและมืดมนยิ่งกว่าเดิม