ลาวยิ้มไม่ออก..ใครจะช่วยเธอได้ เงินเฟ้อ 40% ทำอย่างไรไม่ต้องเข้า IMF

เศรษฐกิจลาว
บทความพิเศษ : เมื่อลาวยิ้มไม่ออก..ใครจะช่วยเธอได้
ผู้เขียน : ดร. คณิศ แสงสุพรรณ

เมื่อวันก่อนดูรายการของ คุณพุดทะสอน สีดาวัน ยูทูบเบอร์ สาวลาวใต้ คนดัง ผมต้องขอขอบคุณเธอ เพราะรายการของเธอเป็นแหล่งข้อมูลเศรษฐกิจลาวที่ดีของผม ซึ่งผมตามอย่างใกล้ชิดมาหลายปี ตั้งแต่คุณวิกรม ไปช่วยทำนิคมอมตะในลาว และจะร่วมกับอีอีซีทำท่าเรือบก จากนิคมในลาวมาเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบัง

ในยูทูบของคุณพุดทะสอน เมื่อต้นเดือน พ.ค.นี้ เป็นตอนที่ชื่อว่า “เงินแพง ค่าแรงถูก” ครั้งนี้เธอยิ้มไม่ค่อยออก เพราะเธอเล่าให้ฟังว่าเงินกีบเดี๋ยวนี้ซื้อของได้นิดเดียว ข้าวของที่ใช้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยดูแพงไปหมด

เธอพาไปร้านแลกเงินถามว่าเงิน 1 บาทไปแลกได้กี่กีบ คนขายเงินบอกว่า 539 กีบ ทั้ง ๆ ที่เมื่อ พ.ค. ปีก่อน แลกได้ 417 กีบ คือค่าเงินกีบเทียบกับบาทลดลง 30% ในเวลาเพียง 1 ปี

เมื่อมองย้อนไป 3 ปีช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด ค่าเงินกีบ/บาทลดลงเกือบ 100% หมายความว่า คนลาวที่เคยรับเงินเดือนปกติประมาณ 1.5 ล้านกีบ ได้เงินเดือนเท่ากับ 6,000 บาท แต่ตอนนี้เหลือแค่ 3,000 บาท

ค่าเงินกีบที่ลดลง ดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ซ้ำเติมให้ราคาน้ำมัน (ที่ต้องนำเข้าเป็น USD แต่ขายเป็นกีบ) แพง ทำให้ของแพง ในกรณีของไทยปีที่แล้วเงินเฟ้อขึ้นไป 6% กว่า กรณีของลาวเงินเฟ้อของลาวขึ้นไป 22%

แต่ที่น่าตกใจ 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปแล้วถึง 40% ตรงกับการสำรวจของคุณ พุดทะสอน โดยราคาค่าอาหารขึ้นไป 52%

ดังนั้นหากเพื่อนลาวคนเดิมที่ก่อนโควิดได้เงินเดือน 1.5 ล้านกีบ โดนอัตราแลกเปลี่ยนกินไปครึ่งนึงเหลือเงินเทียบเท่า 3,000 บาท และยังโดนเงินเฟ้อกินไปอีก 40% เขาจะเหลือเป็นกำลังซื้อจริง 1,517 บาท

ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ

1) คนหนุ่มสาวลาว เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือไปประเทศอื่น เพราะทำงานในต่างประเทศมีรายได้ดีกว่า ทำงานในลาว และรับเงินเดือนเป็นกีบ

2) เสียงตำหนิการบริหารของรัฐบาลดังขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังซื้อที่ลดลง

  • ปี 2022 เงินเฟ้อ 23% เงินกีบลดลง 53% เสียงก็ดังระเบิดแล้ว
  • ปี 2023 ช่วง 4 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 40% เสียงก็เลยยิ่งดังขึ้นอีก

รัฐบาลลาวพยายามตั้งเป้าหมายกดเงินเฟ้อให้เหลือ 9% ในปีนี้ พร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ แต่คนทั่วไปก็เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันเสียงจากนักวิเคราะห์ผู้ไม่หวังดีการเปรียบเทียบลาวกับศรีลังกาที่มีวิกฤตจนต้องเข้าไอเอ็มเอฟ ดูมีเสียงดังขึ้นเช่นกัน 

การเข้าสู่ปัญหาเศรษฐกิจ

ในด้านวิชาการ เราไม่ความจำเป็นต้องวิจารณ์ว่า ใครผิดใครถูก แต่ขอให้มีข้อเท็จจริง อย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นสำคัญ

ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา มี 4 ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา โควิด/สงครามการค้าจีนกับสหรัฐอเมริกา/สงครามยูเครนกับรัสเซีย/และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ต้องถือเป็นปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น จึงตำหนิรัฐบาลต่าง ๆ ไม่ได้เต็มปาก

กรณึของลาว

  • ปี 2019 โควิดต้องปิดประเทศต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 12% ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 997 ล้านเหรียญสหรัฐ (เงินเหลือพอซื้อของนำเข้าแค่ 1.4 เดือนของการนำเข้า)
  • ปี 2020- 2021 สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ลาวขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีกปีละประมาณ 4% ของ GDP แต่มียังหาเงินทุนสุทธิไหลเข้าประเทศทำให้เงินทุนสำรองเหลือ 1,263 ล้านเหรียญสหรัฐ (พอซื้อของนำเข้า 2 เดือน)
  • ปี 2022 สงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันแพงทั่วโลก ต้องเข้าคิวเติมน้ำมัน และตื่นตระหนกทั่วประเทศ แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาคุมราคา อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงเกินควบคุมที่ 22.7% เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 1,121 ล้านเหรียญสหรัฐ (พอซื้อของนำเข้า 1.5 เดือน)
  • ปีนี้ 2023 จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง อัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกประมาณ 40% ค่าเงินเทียบกับบาท ลดลงไปแล้ว 3% หากไม่ทำอะไรที่หนักแน่นพอ ความเชื่อมั่นในเงินกีบก็จะยังไม่ดีขึ้น ก่อให้เกิดเป็นวงจรให้เงินเฟ้อเพิ่ม-ค่าเงินลด-ค่าแรงลด ไปอีกระยะหนึ่ง และต้องระวัง การปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของ สถาบันจัดอันดับ ซึ่งมักจะทำในช่วงประเทศอ่อนและทำให้สถานะการณ์เลวร้ายลงไปอีก Fitch ลดอันดับจาก CCC เป็น CCC- (9 ระดับต่ำกว่าที่ควรลงทุน) เมื่อปลายปีที่แล้ว และทั้ง Fitch/S&P/Moody’s คงเข้ามาประเมินอีกในปีนี้

การออกจากปัญหาก่อนกลายเป็นวิกฤต

  • ประมาณสถานการณ์

การประมาณของธนาคารโลก (พฤษภาคม 2023) ดูดีกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมิน เพราะธนาคารโลกเห็นว่าลาวจะหมดปัญหาและเข้าสู่การฟื้นตัวในปีนี้ เมื่อดูลึก ๆ คงยังวางใจไม่ได้ เช่น ธนาคารโลกประมาณการเงินเฟ้อของลาวปีนี้ 16.8% ซึ่งตัวเลขจริงในไตรมาสแรกอัตราเงินเฟ้อจริงสูงถึง 40% และค่าเงินกีบยังอ่อนตัวประมาณ 10% การฟื้นตัวคงเร็วอย่างที่คิด

อาจเป็นเพราะคาดการณ์ในเชิงดี ข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจของธนาคารโลกจึงเป็นแบบเดิม ๆ เป็นนโยบายชุดเดิม ๆ ที่แนะนำกับทุกประเทศ คือ

1) ลดการใช้จ่ายภาครัฐ (เก็บภาษีธุรกิจให้มากขึ้น ขี้น VAT เป็น 10% ลดการใช้จ่ายภาครัฐแต่ให้เพิ่มรายจ่ายเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข)

  • จากประสบการณ์ของไทยและหลายประเทศ การขึ้นภาษี และการลดการใช้จ่ายของรัฐ ในช่วงนี้จะทำให้เศรษฐกิจอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน อาจเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบเศรษฐกิจ

2) ลดภาระหนี้ภาครัฐ (เจรจาเลื่อน/ลดหนี้ กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ บริหารหนี้สินภาครัฐให้รัดกุม ให้การลงทุนใช้การร่วมทุนกับเอกชนที่มีระเบียบกำกับความโปร่งใส)

  • การเจรจาหนี้เมื่อทำจริงทำได้จำกัด จะทำได้เฉพาะหนี้รัฐบาลซึ่งก็คงทำเต็มที่อยู่แล้วโดยเฉพาะกับจีน กรณีเจ้าหนี้เอกชนต่างประเทศมองว่า เป็นระยะความไม่แน่นอน ประเมินความเสี่ยงลำบาก

3) กำกับดูแลความเสี่ยงสถาบันการเงิน ให้ควบคุมปริมาณเงินและสินเชื่อไม่ให้ระบบธนาคารมีหนี้เสีย

  • ระบบการเงินแม้จะเป็นผู้รับผลจากการบริหารเศรษฐกิจ หากรัฐบาลลดการใช้จ่าย ขึ้นภาษี เศรษฐกิจหดตัว การเจรจาหนี้ทำได้ยากขึ้น สินเชื่อมีปัญหาจะเพิ่มขึ้น
  • หากประเมินว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังเปราะบาง ต้องประคับประคอง การลดหรือตัดสินเชื่อกับธุรกิจและชาวบ้านที่กำลังมีปัญหา ซึ่งจะทำระบบเศรษฐกิจทั้งบนและล่างยุบตัวลง (เราเรียกกันว่า ทฤษฎีร่ม คือตอนเศรษฐกิจดี ฝนไม่ตก ก็ให้สินเชื่อ ให้ยืมร่ม แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี ฝนตก เอาร่มคืน)

4) ไม่แน่ใจว่า ธนาคารโลก ประเมินสถานการณ์อย่างไร แต่ได้เขียนไว้ว่า “เปิดให้รัฐลาวเตรียมตัวขอความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากจากความตกลงต่าง ๆ” (the Government may need to mobilize liquidity facilities and emergency liquidity assistance arrangements) เรื่องการขอความช่วยเหลือทางการเงินนี้ไม่ได้ขยายความไว้แต่อย่างไร

ข้อเสนอให้ลดขนาดของภาครัฐ และลดสินเชื่อ มักฟังดีในทางทฤษฎี แต่เลวเมื่อนำมาใช้จริง หากเศรษฐกิจยังเปราะบาง จะยิ่งทำให้คนไข้ซึ่งก็คือภาคการผลิตและประชาชน ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวดี กลับไปป่วยได้อีก สิ่งที่ควรทำคือค่อย ๆ ผ่อนให้เข้าที่ใช้เวลา 1-2 ปี ดีกว่ากระชากให้ระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ Hard Lading (ตกลงมาโดยไม่รู้ตัว) ฝากไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และอย่าให้ตึงเกินไป

ทางออกคือสร้างความมั่นใจในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ

1) มีแผนบริหารจัดการที่จะไม่พึ่งไอเอ็มเอฟโดยเด็ดขาด

จุดเปลี่ยนสำคัญคือวันที่ เชื่อว่าจะต้องเข้าขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ นักลงทุนและนักธุรกิจหยุดกิจกรรมและประเมินสถานการณ์ในทางร้าย ในกรณีของ ไทย ศรีลังกา ปากีสถาน และที่กำลังเกิดกับบังกลาเทศก็เป็นอย่างเดียวกัน

ประเทศเริ่มขอเจรจาความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟนั้น ถือว่าได้ส่งสัญญาณว่าเข้าสู่วิกฤตจริง ๆ และการเจรจาใช้เวลานานหลายเดือน ประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจประเทศจะจมสู่จุดต่ำสุด เพื่อประเมินพื้นฐานใหม่

ในช่วงเข้าโครงการต้องทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกับ ไอเอ็มเอฟ จากประสบการณ์ประเทศที่เข้ารับเงื่อนไขเศรษฐกิจมักใช้เวลานานกว่าจะฟื้นกลับมาเป็นปกติ

ประเทศไทยมีประสบการณ์จากวิกฤตค่าเงิน ปี 2540 จนป่วยมาหลายปีกว่าที่ขนาดของ GDP ในรูปบาทจะกลับมาเท่าเดิมใช้เวลา 5 ปี และเนื่องจากค่าเงินลดลงต่ำมาก GDP ในรูป USD ใช้เวลาถึง 11 ปี กว่าจะกลับมาเท่าก่อนวิกฤต

ความสูญเสียครั้งนั้นทำให้คนไทยสัญญาจะไม่ยอมให้ประเทศเข้าไอเอ็มเอฟอีก และได้ทำการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน และระบบป้องกันความเสี่ยงอย่างเข้มงวด สำคัญคือมีสำรองระหว่างประเทศ (ปราการด่านแรก First Line of Defense) สูงมาก แม้ระบบยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็เชื่อว่าเอาตัวรอดได้

2) สร้างความมั่นใจระยะสั้นด้วยการสร้างเงินสำรองระหว่างประเทศ

ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็เกิดปัญหาค่าเงินอ่อนตัว แต่ก็ยังคงมีเสถียรภาพดีพอสมควรเพราะมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากพอ

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ มีทั้งแข็งแรงและมีปัญหาตามขนาดของเงินสำรองระหว่างประเทศ

  • เมียนมา หลังปฏิวัติเดินย้อนหลังออกจากระบบการเงินโลก ต้องปิดประเทศ เมียนมา ขาดเงินตราต่างประเทศจนต้องประกาศหยุดใช้หนี้ต่างประเทศเมื่อปีก่อน
  • กัมพูชา มีเงินสำรองระหว่างประเทศ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการนำเข้าได้ประมาณ 8 เดือน ซึ่งก็มั่นคงมาก และมีเงินต้นและหนี้ต่างประเทศต้องจ่ายปีละประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • เวียดนาม มีเงินสำรองระหว่างประเทศ ประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการนำเข้าได้เป็นปี และ เกินดุลการค้า อาจจจะมีปัญหาเรื่องหนี้เสียอสังหาริมทรัพย์ แต่คงไม่ทำให้เข้าวิกฤตง่าย ๆ

ในเอเชียปัญหาในครั้งนี้ไปเกิดที่เอเชียใต้เป็นหลัก 

  • ศรีลังกา เข้าโครงการไอเอ็มเอฟ (EFF) เพื่อขอสภาพคล่อง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาดด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่มีผลตอบแทน และการใช้นโยบายเกษตรอินทรีย์แบบสุดโต่ง ทำให้มีปัญหาเงินเฟ้อมาก่อนที่โควิดจะมาด้วยซ้ำ ประชาชนเดือดร้อนมาก
  • ปากีสถาน เพิ่งเข้าไอเอ็มเอฟ ด้วยสภาพคล่อง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • บังกลาเทศ กำลังเจรจากับไอเอ็มเอฟ เช่นกัน

กรณีของลาว เงินสำรองระหว่างประเทศ มีน้อยเกินไป ผู้คนทั้งในและนอกประเทศจึงขาดความเชื่อมั่น เพราะเงินสำรองประมาณ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการนำเข้าในอนาคตได้ 1.3 เดือน เมื่อนำมาขึ้นตาชั่ง กับอนาคตทางเศรษฐกิจแล้วดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ

คร่าว ๆ ลาวควรต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศอีกอย่างน้อยที่สุดอีก 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

  • 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐรองรับการนำเข้า 3 เดือนในอนาคต
  • 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้พอจ่ายหนี้และดอกเบี้ย 1,900 และ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ และ ปีหน้า
  • 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ไว้เผื่อยามฉุกเฉิน

ทำอย่างไรจะมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นโดยไม่ต้องเข้า IMF

รัฐบาลลาวได้พยายามเต็มที่ที่จะเร่งหาเงินต่างประเทศ เชื่อว่าทำอยู่แล้วแต่ต้องทำให้มากขึ้น ต้องเร่งการเจรจากับมิตรประเทศ

1) เร็วที่สุดคือเร่งรัดการท่องเที่ยว จาก 300 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับไปเท่ากับก่อนโควิดที่ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,500 ล้านเหรียญใน 12 เดือนข้างหน้า อาศัยค่าเงินที่ลดลงเป็นแรงจูงใจให้รายได้ลงไปถึงชุมชน

2) การดึงการลงทุนทางตรง แม้ต้องใช้เวลาแต่ก็ได้สร้างกำลังให้กับระบบเศรษฐกิจ ลาวมีความได้เปรียบที่มีพลังงานเยอะและราคาไม่แพง สามารถตั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิต Solar Cell เพราะใช้พลังงานเยอะ เป็นต้น ในระยะนี้การประกาศให้ 3 ปีข้างหน้าเป็นช่วงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ลดอุปสรรคการลงทุนครั้งใหญ่ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

3) ที่สำคัญที่สุด คือการเจรจาหนี้ และหาแหล่งเงินกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

3.1) เจรจาทวิภาคีกับจีน ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่ และพร้อมให้ความช่วยเหลือสภาพคล่อง ซึ่งลาวก็ได้ดำเนินการอยู่แล้วเป็นระยะ ๆ เรื่องนี้มีข้อด้อยคือประชาคมโลกดูไม่ค่อยดี กลายเป็นว่ารัฐบาลจีนทำให้ลาวเป็นหนี้เยอะ (กับดักหนี้จีน) และคนลาวก็รู้สึกว่าต้องไปขอร้องจีน

3.2) เจรจาภายใต้กรอบ ความริเริ่มเชียงใหม่ (CMI Chieng Mai Initiatives)

ความริเริ่มเชียงใหม่ ความตกลงที่ได้เวลาปรับปรุง

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997 อาเซียนร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (รวมกันเรียกว่า ASEAN+3) ตั้งกองทุนให้การกู้ยืมระหว่างกัน

ภายใต้ความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative : CMI) เพราะรัฐมนตรีทั้ง 13 ประเทศ (ของไทยคือ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์) มาประชุมลงนามข้อตกลงกันที่เชียงใหม่ (พฤษภาคม ปี 2000) ในการประชุมประจำปี ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ครั้งนั้นเป็นการส่งสัญญาณว่า อาเซียน และเพื่อนในเอเชียได้สร้างกลไกช่วยกันเอง เมื่อภัยมา (Self-help Mechanism) เพราะถึงเวลาที่มีปัญหา ไม่มีใครมาช่วยเรา ซึ่งก็ดูคล้าย ๆ กับลาวในช่วงนี้

หลักการของความริเริ่มเชียงใหม่ คือ เมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศไม่พอ ก็ให้ขอยืมเพื่อนมาก่อน ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ตราบเท่าที่ยังมีบริหารเศรษฐกิจดี และแทนที่จะยืมเป็นครั้ง ๆ ไป ทั้ง 13 ประเทศ ก็ลงขันตั้งกองทุนไว้ล่วงหน้า ให้สมาชิกสามารถเบิกได้ตามสิทธิที่ตกลงกันไว้ คือ อาเซียน+3 ตั้งกลไกไว้ล่วงหน้าในกรณี เช่นที่เกิดขึ้นในลาวไว้แล้ว เรียกได้ว่าเงินกองทุน คือปราการด่านที่สองในการดูแลค่าเงินของประเทศสมาชิก

แต่กองทุนดังกล่าวตั้งมานาน ไม่มีการเพิ่มทุนให้สอดคล้องกับขนาดของเศรษฐกิจกองทุนปัจจุบันขยายเป็น 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อ 2012 (10 ปีมาแล้ว) เทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศใน อาเซียน+3 ซึ่งมีขนาดกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ทำให้แน่ใจได้ว่ากองทุนนี้ขยายได้

ด้วยขนาดที่จำกัด ลาวสามารถกู้ยืมได้แค่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 2,000-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ประมาณไว้ถือว่าน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในปัจจุบันด้วย ได้นำเสนอการพัฒนาความริเริ่มเชียงใหม่ให้เป็น กองทุนการเงินเอเชีย (ASEAN Monetary Fund : AMF) ในการประชุมกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และได้รับการตอบรับที่ดี ท่านอันวาร์เข้าใจกลไกนี้ดี เพราะท่านเป็นรัฐมนตรีคลังสมัยเมื่อครั้งลงนามความริเริ่มเชียงใหม่ และได้รับการตอบรับที่ดี จึงเชื่อได้ว่า ถ้าลาวช่วยเป็นประเทศที่สนับสนุนให้มีการขยาย CMI ให้เป็น AMF ก็จะทำให้การดำเนินการเป็นไปได้เร็วขึ้น

บทบาทของประเทศไทยในการช่วยลาว

สถานการณ์ในลาวดูเหมือนจะไม่จบง่าย ๆ สมควรที่ประเทศไทยต้องเล่นบทนำในการวางแผนเฉพาะช่วยเหลือประเทศลาว เพราะลาวเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของเรา และปัญหาในลาวเชื่อมโยงกับไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ดีที่สุดสำหรับไทยคือช่วยลาวก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด

มี 3 เรื่องที่ไทยจะช่วยลาวได้

  • สนับสนุนการท่องเที่ยวของไทย-ลาว

ทำโครงการร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวลาวให้คนไทยไปเที่ยวลาวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า หรือโครงการร่วมสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยให้เดินทางไปเที่ยวลาวด้วย

  • จัดการแรงงานลาวให้ทำงานในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ

ปีนี้และปีหน้าจะมีคนลาวเข้ามาทำงาน กระทรวงแรงงานน่าจะทำโครงการให้แรงงานลาวเข้ามาทำอย่างเป็นระบบ จัดระเบียบอย่าให้อยู่ในลักษณะลักลอบแบบที่เป็นอยู่ และจัดระเบียบทุกองค์กรอย่าให้มีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองแบบที่เป็นอยู่ โครงการตัวอย่าง เช่น นำเข้ามาทำงานในโครงการก่อสร้าง ให้บริษัทผู้จ้างรับผิดชอบ จะเป็นประโยชน์กับไทย ที่ขาดแรงงานจำนวนมาก

  • ประเทศไทยเสนอการเพิ่มของทุนในการเพิ่มขนาดของ CMI และการจัดตั้ง AMF

CMI ความริเริ่มเชียงใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของความเดือดร้อนของประเทศไทยในการเผชิญหน้ากับวิกฤตต้มยำกุ้ง และเราได้ปรับกลไกภายในจนแน่ใจว่าเวลาแบบนั้นจะไม่หวนกลับมาอีก ซึ่งก็ถือว่า

การจัดตั้ง CMI จึงเป็นการบ่งบอกเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับประเทศสมาชิก อาเซียน+3 อีก และการสร้างบทบาทนำในครั้งนี้น่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือจากประเทศใหญ่ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์) และกลาง (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน) มาช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาประเทศให้กับประเทศเล็ก (CLMV และติมอร์) ในอนาคตอีกด้วย