70 ปีความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทย ย้ำความร่วมมือในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ธงชาติ ญี่ปุ่น-ไทย
ธงชาติ ญี่ปุ่น-ไทย

ปี 2024 นี้ เป็นปีครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในโอกาสนี้สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จัดงานบรรยายสรุปเรื่องนโยบายการต่างประเทศของญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสื่อมวลชนในประเทศไทยเข้าร่วมฟังการบรรยาย 

เนื้อหาในการบรรยายแบ่งออกเป็นสามหัวข้อ ได้แก่ หนึ่ง การบรรยายสรุปเรื่องนโยบายการต่างประเทศของญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย สอง การบรรยายสรุปเรื่องครบรอบ 70 ปี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างญี่ปุ่น-ไทย สาม การบรรยายอื่น ๆ โดยหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่นกับโลกและไทย 

ในการบรรยายแรกเริ่ม โอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยบรรยายว่า ในส่วนของการต่างประเทศ โลกได้เข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น (post-Cold War) จากการทำลายกำแพงเบอร์ลิน แต่คราวนี้ โลกได้เข้าสู่ยุคใหม่แล้ว จากการที่รัสเซียใช้กำลังรุกรานยูเครน ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อสันติภาพและความสงบสุข ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงจึงควรยุติลง ทางญี่ปุ่นจึงเห็นด้วยกับการยอมรับกฎบัตรสหประชาชาติ

ทั้งนี้ ความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ของญี่ปุ่น นับว่าซับซ้อนและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากประเทศรอบข้าง ทั้งจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ที่ต่างก็สร้างเสริมกองกำลังทหาร ตลอดจนการพัฒนาขีปนาวุธ

อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นเน้นย้ำถึงความร่วมมือและการพูดคุยผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายในภูมิภาค และกำชับว่าญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ในการเจรจากับจีน 

ญี่ปุ่นกับการพัฒนาประเทศไทย 

โอตากะ มาซาโตะบรรยายว่า นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากในประเทศไทย โดยการให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ผ่านโครงการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) 

Advertisment

ยกตัวอย่างการจัดหาเงินทุนของญี่ปุ่นเพื่อให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การให้กู้ยืมเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 14 แห่ง การให้กู้ยืมสร้างสนามบินนานาชาติดอนเมืองและสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ, การให้กู้ยืมสร้างทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีแดง ซึ่งคิดเป็น 25% ของระยะทางทั้งหมดของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (MRT), การให้กู้ยืมสร้างทางด่วน คิดเป็น 20% ของระยะทางทางด่วนทั้งหมดของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), การให้กู้ยืมสำหรับระบบการผลิตน้ำประปา คิดเป็น 70% ของการผลิตน้ำประปาในกรุงเทพฯ และการให้กู้ยืมในการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกคิดเป็น 53% ของปริมาณการค้ารวมของไทย 

อีกทั้งยังมีการส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรแรงงานในประเทศ เช่นการตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นในปี 2007 โครงการความร่วมมือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เพื่อการพัฒนา (ODA Loan) ในการสร้างสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) และสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL) ขึ้นในปี 2020 

Advertisment

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย 

ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า โอตากะ มาซาโตะบรรยายว่า ญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้ากับไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐและจีน และญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นสัดส่วน 37.7% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)  โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 1985 ถึง 2023 อยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท

จำนวนของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 3,884 แห่งในปี 2009 เพิ่มเป็น 5,864 แห่งในปี 2021 

นอกจากนี้ จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 1,084 แห่งในปี 2009 กลายเป็น 5,751 แห่งในปี 2023 แสดงถึงความนิยมในวัฒนธรรมญี่ปุ่นของคนไทย 

ภาคการท่องเที่ยวก็มีตัวเลขในทางที่ดีเช่นกัน ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีชาวญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากตัวเลข 1,004,000 คนในปี 2009 และสูงสุดในปี 2019 ที่ 1,810,000 คน ทางด้านนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มคล้าย ๆ กัน เพิ่มขึ้นจาก 178,000 คนในปี 2009 เป็น 1,320,000 คนในปี 2019 

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 นี้ มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย 470,000 คน และนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น 620,000 คน