ไชน่า เรลเวย์ ผู้ดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงของทางการจีนจำต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากหนี้สูง การขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทมีหนี้ 859,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 29.6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2023 มูลค่าหนี้คิดเป็นสองเท่าของหนี้เอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่เจอวิกฤตทางการเงิน
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ไชน่า เรลเวย์ (China Railway) บริษัทรถไฟของรัฐจีน ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารเส้นทางความเร็วสูงสายหลักและเปิดตัวที่นั่งระดับพรีเมียมเพื่อชดใช้หนี้ 859,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 29.6 ล้านล้านบาท จากนโยบายเน้นขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จีนเริ่มประหยัดมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ การที่ไชน่า เรลเวย์ ขึ้นค่าโดยสารอย่างมีประสิทธิผลแม้จะอยู่ในภาวะถดถอยนั้น เป็นผลมาจากหนี้มหาศาลของบริษัท ซึ่งมีมูลค่ารวม 6.13 ล้านล้านหยวน หรือราว 29.6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2023 มากกว่าหนี้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญปัญหาทางการเงินมากถึงสองเท่า
รายรับจากการดำเนินงานของไชน่า เรลเวย์ ในปี 2023 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านหยวน หรือราว 5.7 ล้านล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่เพียง 3.3 พันล้านหยวน หรือราว 16,000 ล้านบาท โดยในปี 2020 ถึง 2022 บริษัทขาดทุนสุทธิหลายหมื่นล้านหยวน เมื่อจำนวนผู้โดยสารลดลงเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และหนี้สินก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกสาเหตุมาจากการสร้างเครือข่ายเส้นทาง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของบริษัท ซึ่งตามข้อมูลของสำนักงานบริหารรถไฟแห่งชาติ เครือข่ายรถไฟของจีนมีระยะทางทั้งหมด 159,000 กิโลเมตรในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ รถไฟความเร็วสูงมีระยะทาง 45,000 กิโลเมตร เพิ่มขึ้น 16,000 กิโลเมตรจากปี 2018 ซึ่งเทียบเท่ากับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นของญี่ปุ่นรวมทั้งหมดในแต่ละปี
การลงทุนมหาศาลนี้ไม่ได้ส่งผลให้มีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางการจีนให้ความสำคัญกับการขยายเส้นทางเหนือสิ่งอื่นใด และมีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า การสร้างเส้นทางรถไฟบางเส้นทางนั้นก็ไม่ได้วางแผนมาดีสักเท่าไร
สภาพสถานีรถไฟความเร็วสูงในเมืองตานตง มณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เงียบเหงาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา พื้นกระเบื้องสกปรก ทั้งยางมะตอยบริเวณจุดรับรถด้านนอกก็แตกร้าว “เมื่อสถานีเปิดครั้งแรก มีผู้โดยสารอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็เริ่มเห็นผู้โดยสารน้อยลง” ชายคนหนึ่งที่เปิดร้านอยู่ใกล้ ๆ กล่าว ซึ่งตามรายงานของสื่อจีน สถานีดังกล่าวเปิดให้บริการในปี 2005 แต่หยุดให้บริการเพียง 3 ปีหลังจากนั้น ทั้งนี้ สถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างน้อย 26 แห่งในจีนที่ไม่ได้เปิดดำเนินการ และ 8 แห่งจากทั้งหมดไม่เคยใช้งานเลย
นิกเคอิ เอเชีย สรุปสุดท้ายว่า ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล คาดว่าการรถไฟจีนจะยังคงลงทุนครั้งใหญ่ต่อไป เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่จัดทำโดยทางการจีนในปี 2023 เรียกร้องให้เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนเติบโตอีกประมาณ 8,000 กม. เป็น 53,000 กม. ภายในปี 2027
ส่องราคาค่าตั๋วใหม่
การขึ้นราคาตั๋วเริ่มในช่วงฤดูร้อนนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ปรับอัตราค่าโดยสารในเส้นทางความเร็วสูงสายหลัก 4 เส้นทาง ระบบใหม่ที่ซับซ้อนนี้จะเพิ่มค่าโดยสารพื้นฐานขึ้นราว 20% ก่อน จากนั้นจึงกำหนดอัตราส่วนลดที่แตกต่างกันสำหรับรถไฟแต่ละขบวน ตัวอย่างเช่น ในเส้นทางที่เชื่อมต่อเซี่ยงไฮ้และหางโจว ที่นั่งชั้นธุรกิจชั้นบนเคยมีราคาคงที่ 219.5 หยวน หรือราว 1,000 บาท, ที่นั่งชั้นหนึ่ง 117 หยวน หรือราว 850 บาท และที่นั่งชั้นสอง 73 หยวน หรือราว 350 บาท และตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ค่าโดยสารพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 306 หยวน หรือราว 1,470 บาทสำหรับชั้นธุรกิจ, 140 หยวน หรือราว 670 บาท สำหรับชั้นหนึ่ง และ 87 หยวนหรือราว 420 บาท สำหรับชั้นสอง
อย่างไรก็ตาม ไชน่า เรลเวย์ ระบุในประกาศการแก้ไขราคาว่าราคาจริงจะลดลงถึง 45% โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ฤดูกาล วันที่ และเวลาของวัน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เห็นว่าเป็นการปรับอัตราค่าโดยสารตามดีมานด์ ไม่ใช่การปรับขึ้นราคาเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การกำหนดราคาแบบมีพลวัตดังกล่าวมักเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสายการบินและโรงแรม
แต่เมื่อ นิกเคอิ พิจารณาค่าโดยสารจริงสำหรับประเภทที่นั่งในเส้นทางอู่ฮั่น-กว่างโจวระหว่างวันที่ 19 สิงหาคมถึง 25 สิงหาคม พบว่าค่าโดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากก่อนการปรับราคา และราคายังคงเกือบเท่าเดิมสำหรับจำนวนที่นั่งมากกว่า 40% และราคาลดลงสำหรับจำนวนที่นั่งเพียง 5% เท่านั้น สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลเผยแพร่ความเห็นว่า ค่าโดยสารในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วนับตั้งแต่เปิดเริ่มให้บริการ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้ยากที่จะรักษาราคาค่าโดยสารเดิมไว้ได้
นอกจากนี้ ยังมีการนำที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสแบบพรีเมี่ยมใหม่มาใช้ในเส้นทางบางเส้นทาง ตั๋วมีราคาแพงกว่าที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสมาตรฐานประมาณ 40% แต่มีพื้นที่มากกว่า และผู้โดยสารสามารถใช้เลานจ์ชั้นธุรกิจก่อนออกเดินทางได้