เมื่อเศรษฐกิจเยอรมนีป่วยไข้นาน ถึงขั้น OECD แนะเร่งปฏิรูป

เศรษฐกิจเยอรมนี
หญิงสูงวัยนั่งขอทานข้างถนนในนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของเยอรมนี และหนึ่งในศูนย์กลางการเงินโลก/ บันทึกภาพ วันที่ 18 เมษายน 2024 (ภาพโดย Kirill KUDRYAVTSEV / AFP)

เศรษฐกิจเยอรมนียังคงซึมไม่ฟื้น ตัวเลขเศรษฐกิจ 7 ไตรมาสล่าสุด นับจากไตรมาส 4 ปี 2022 ถึงไตรมาส 2 ปี 2024 “หดตัว” ไป 4 ไตรมาส และข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังคงสะท้อนภาพที่หดหู่หม่นหมอง ผลสำรวจความมั่นใจของภาคธุรกิจ (Business Confidence) ประจำเดือนกันยายนแสดงให้เห็นว่า ขวัญกำลังใจของภาคธุรกิจในเยอรมนีลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน 

คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่วิเคราะห์ร่วมโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ 4 สถาบันซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมไลบ์นิซ (Leibniz Association) ได้แก่ สถาบันวิจัยไลบ์นิซเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิก (ifo) สถาบันเยอรมันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจแห่งเบอร์ลิน (DIW) สถาบันไลบ์นิซเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ (RWI) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจฮัลเลอ (IWH) ที่เผยแพร่ในวันที่ 26 กันยายน คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีจะลดลง 0.1% ในปี 2024 และจะเติบโต 0.8% ในปี 2025 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในปี 2026

ตลาดแรงงานของเยอรมนีที่ “แกร่ง” มาตลอดแม้เศรษฐกิจไม่ดีก็เริ่มได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจแล้ว โดยการคาดการณ์ชุดเดียวกันนี้คาดว่า อัตราว่างงานของเยอรมนีในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.0% จาก 5.7% ในปี 2023 และจะไม่เห็นตัวเลขกลับลงไปที่ 5.7% อีกเลยจนกว่าจะถึงปี 2026

ขณะเดียวกัน การคาดการณ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กันยายน แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโตต่ำรั้งท้ายตารางในบรรดา G-7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

OECD คาดว่า ในปี 2024 เศรษฐกิจเยอรมนีจะโตเพียง 0.1% ดีกว่าญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัว 0.1% และในปี 2025 คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะโตต่ำ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในกลุ่ม G-7

ความป่วยไข้แบบซึมลึกและซึมนานของเศรษฐกิจเยอรมนีได้รับคำแนะนำจากนักเศรษฐศาสตร์ของ OECD ว่า สมควรต้องมีการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน

ADVERTISMENT

อัลวาโร ซานโตส เปอเรรา (Alvaro Santos Pereira) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ บลูมเบิร์ก เทเลวิชั่น (Bloomberg Television) เมื่อวันที่ 25 กันยายนว่า เยอรมนีต้องดำเนินการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงการแข่งขันและลดขั้นตอนทางราชการ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“เยอรมนีควรเน้นที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลซึ่งล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป” แต่เพียงแค่ปรับปรุงโครงสร้างนั้นยังไม่เพียงพอ เปอเรราบอกว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปในเยอรมนี”

ADVERTISMENT

เปอเรรากล่าวอีกว่า เยอรมนีจำเป็นต้องมีการปฏิรูปหลายอย่างเพื่อให้เป็นมิตรต่อการแข่งขัน เนื่องจากตอนนี้ในหลาย ๆ ส่วนของเศรษฐกิจเยอรมนีมีอุปสรรคในการบริการมากเกินไป มีระเบียบราชการมากเกินไป

“เราคิดว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบ” เขาพูดแทนคณะนักเศรษฐศาสตร์ OECD

เขาอธิบายว่า ความจำเป็นในการปฏิรูปของเยอรมนีนั้นตามมาหลังจากเกิดปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่าง เช่น การแข่งขันของเยอรมนีกับจีนในภาคการผลิต และอุปสงค์หรือความต้องการซื้อที่ลดลงในจีนรวมไปถึงปัญหาเชิงวัฏจักรต่าง ๆ เช่น วิกฤตพลังงาน การผลิตที่ตกต่ำ และผู้บริโภคในเยอรมนีซึ่งมีความรอบคอบเลือกที่จะประหยัดเงินมากกว่าที่อื่น ๆ ในยุโรป

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD บอกอีกว่า เยอรมนีจะสามารถเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจได้ 3% ในช่วงเวลา 10 ปี หากดำเนินการปฏิรูปตามที่แนะนำ