ย้อนดูอดีต เมื่อกฎอัยการศึกเกาหลีใต้อายุสั้น ‘ยุน ซอกยอล’ ยอมถอยแล้ว

ทหารพยายามเข้าไปในอาคารรัฐสภาในกรุงโซล เมื่อ 4 ธันวาคม 2024 หลังจากประธานาธิบดียุน ซอกยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ประกาศใช้กฎอัยการศึก (เอเอฟพี)

จากกรณียุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้แถลงฉุกเฉินผ่านการถ่ายทอดสดสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2024 ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อคุ้มครองชาติให้พ้นภัยจากเกาหลีเหนือ หลังจากไม่พอใจฝ่ายค้าน ยุนกล่าวหาฝ่ายค้านที่คุมสภาในขณะนี้เห็นอกเห็นใจคอมมิวนิตส์เกาหลีเหนือ และให้คำมั่นว่าจะกำจัดกองกำลังที่กระทำการต่อต้านรัฐ นับเป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบ 44 ปี

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ กลายเป็นเรื่องช็อกโลก เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมั่นคงและแข็งแรง ทั้งยังเป็นพันธมิตรอันแข็งแกร่งของสหรัฐ และหากนึกถึงประเทศที่อาจใช้กฎอัยการศึกในเอเชียมากที่สุดคงหนีไม่พ้น อินโดนีเซีย ไทยและเมียนมา

เหตุผลเบื้องหลังการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรถล่มทลาย ทำให้รัฐบาลยุนกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยที่ไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายต่างๆได้ อีกทั้งคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีตกต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงบริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภา

การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคารที่ 3 ธันวาคมของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ สร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนที่ต่อมาประธานาธิบดียุนยอมยกเลิกในเช้าวันถัดไป (4 ธันวาคม) เนื่องจากรัฐสภาเกาหลีใต้โหวตลงมติยกเลิกด้วยเสียงข้างมาก กฎอัยการศึกในครั้งนี้มีอายุแสนสั้นนัก

ภายหลังการประกาศกฎอัยการศึก พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายยุนลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำและมีแนวโน้มว่า นายยุนอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย

ADVERTISMENT

ปฏิกิริยาจากสหรัฐอเมริกา พันธมิตรสำคัญของเกาหลีใต้โล่งใจที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยอมถอยเรื่องกฎอัยการศึก “ประชาธิปไตยเป็นรากฐานของความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้ และเราจะติดตามสถานการณ์ต่อไป” โฆษกทำเนียบขาวกล่าว

การปกครองโดยทหารในเกาหลีใต้กลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกาหลีใต้มีประวัติศาสตร์ของการปกครองโดยกฎอัยการศึกและโดยทหาร

ADVERTISMENT

กฎอัยการศึกในเกาหลีใต้คืออะไร

ประธานาธิบดีมีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกภายใต้รัฐธรรมนูญในกรณีสงคราม การสู้รบ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติอื่นๆ

เกาหลีใต้มีกฎอัยการศึก 2 ประเภท ได้แก่ กฎอัยการศึกฉุกเฉินและกฎอัยการศึกเพื่อความมั่นคง สำหรับกฎอัยการศึกฉุกเฉิน ซึ่งประธานาธิบดียุนเป็นผู้เรียกร้องนั้นให้อำนาจรัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพสื่อ จำกัดการชุมนุม และยกเลิกศาลพลเรือน เป็นต้น

ประธานาธิบดีต้องแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎรทราบหลังจากประกาศกฎอัยการศึก โดยหากสภาฯมีมติเสียงข้างมากให้ยุติกฎอัยการศึก ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งเช่นเดียวกับกรณีล่าสุดนี้ ประธานาธิบดีจะต้องปฏิบัติตาม

กฎอัยการศึกครั้งสุดท้ายหลังโค่นเผด็จการทหาร

กฎอัยการศึกประกาศใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1979 โดยนายชเว กยู-ฮา นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ในขณะนั้น หลังจากการลอบสังหารประธานาธิบดีปาร์ก จุง-ฮี ซึ่งเผด็จการปาร์กผู้นี้ยึดอำนาจจากการรัฐประหารในปี 1961

ภายใต้แรงกดดันจากกลุ่มบรรดาผู้นำกองทัพที่นำโดยพลเอกชุน ดูฮวาน ทำให้นายชเว ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้นขยายเวลาการบังคับใช้กฎอัยการศึกไปจนถึงปี 1980 และยุบพรรคการเมืองและจึงทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านจนมีการปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยราย ก่อนที่กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกในปี 1981 ผลจากการลงประชามติของประชาชน

พรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง และในปี 1987 สิทธิพลเมืองอื่นๆ หวนกลับมา ทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตยจนกระทั่งประธานาธิบดียุน ผู้นำคนปัจจุบันประกาศกฎอัยการศึก

กฎอัยการศึกครั้งแรกปราบคอมมิวนิสต์

การประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1948 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากการก่อตั้งประเทศเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ โดยนายซิงมัน รี ประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกาประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามกบฏทหารที่เป็นคอมมิวนิสต์

และซิงมัน รีบังคับใช้กฎอัยการศึกอีกครั้งในปี 1952 ในช่วงสงครามเกาหลี

กฎอัยการศึกถูกนำมาใช้หลายครั้งโดยระบอบการปกครองต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในสถานการณ์ที่ประเทศเผชิญช่วงเวลาปั่นป่วนจากการรัฐประหาร

 

อ้างอิง

• Reuters

•  AFP

• ฺBloomberg