
ข้อมูลเผยแพร่เมื่อ 28 ก.พ. 2025 เวลา 07.07 น. อัพเดตล่าสุดเวลา 14.48 น.
UNHCR ประณามไทย บังคับส่ง 40 ชาวอุยกูร์ กลับจีน ละเมิดหลักการห้ามส่งกลับ ด้านสหรัฐประณามไทยขั้นสุดร่วมกับชาติตะวันตกอีกหลายชาติ นายกฯ แพทองธาร มองส่ง ‘อุยกูร์’ กลับจีนไม่ได้ทำผิดหลัก ทุกคนสมัครใจ ยันไม่มีประเทศที่สามรับ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์ จำนวน 40 คน หลังจากอยู่ในศูนย์กักกันในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 10 ปี
โดยระบุว่า UNHCR ได้รับรายงานจากหลายช่องทางว่ากลุ่มชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันตัวในกรุงเทพฯ ได้ถูกบังคับส่งกลับอย่างรวดเร็ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานได้ขอสิทธิการเข้าถึงคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด และได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ได้แสดงความหวาดกลัวต่อการส่งกลับ จะไม่ถูกเนรเทศออกจากประเทศ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ไม่เคยได้รับอนุมัติ และเมื่อติดต่อเพื่อขอคำชี้แจง ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยแจ้งว่าไม่มีการตัดสินใจต่อการเนรเทศคนกลุ่มนี้
“นี่เป็นการละเมิดหลักการห้ามส่งกลับ และภาระผูกพันของรัฐบาลไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” รูเวนดรินี่ เมนิคดิเวล่า ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติด้านการให้ความคุ้มครอง กล่าว
สิทธิขั้นพื้นฐานในการขอลี้ภัย และการไม่ถูกบังคับให้ส่งกลับ (เช่น ไม่ส่งผู้คนกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาอาจเผชิญกับความเสี่ยง) ได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 13 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของประเทศไทย มาตรา 16 ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 14 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
UNHCR ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกักขังคนกลุ่มนี้นับตั้งแต่ปี 2014 เร่งให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของชาวอุยกูร์ มอบทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การกักกัน และหาทางออกที่ปลอดภัย และเป็นไปได้
UNOCHA เชื่อ 8 คนยังถูกขัง
โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ (UNOCHA) กล่าวว่าการส่งกลับชาวอุยกูร์ 40 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ประเทศไทยมานานกว่า 11 ปี ไปยังประเทศจีนนั้น เป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
“นี่เป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งมีการห้ามอย่างเด็ดขาด ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการทรมาน ทารุณกรรม หรือการทำร้ายที่ไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนได้หากถูกส่งกลับ” ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว
หลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) อยู่ในข้อที่ 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งข้อ 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกฎหมายของประเทศไทยเอง
“สำคัญมากที่รัฐบาลจีนจะเปิดเผยถิ่นที่อยู่ และรับประกันว่าพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
บุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนอื่นอีกมาก ถูกควบคุมตัวในสภาพที่ย่ำแย่ในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่งในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ห้าคนได้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ในขณะที่เชื่อว่าอีกแปดคนยังคงถูกควบคุมตัวอยู่
“เจ้าหน้าที่ไทยต้องให้การรับประกันว่า จะไม่มีการส่งกลับอีกในอนาคต และบุคคลในกลุ่มนี้ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศไทย รวมถึงผู้ที่อาจเป็นผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย จะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว
ทั้งนี้ ไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council : UNHRC) วาระปี 2025-2027
ย้อนไปก่อนการออกแถลงการณ์ประณามไทยของสหประชาชาติ รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ความกังวลเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี (27 กุมภาพันธ์) หลังจากมีรายงานจากสื่อและภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นรถบรรทุกหลายคันที่ติดเทปสีดำปิดหน้าต่างออกจากศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กักกันชาวอุยกูร์ 48 คน
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เวลา 04.48 น. เที่ยวบินสายการบินไชน่า ไซเทิร์น แอร์ไลน์ส (China Southern Airlines) ออกจากสนามบินดอนเมือง และลงจอดที่เมืองคัชการ์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีนใน 6 ชั่วโมงต่อมา ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Flightradar24
ชาวอุยกูร์ 48 คนที่ถูกกักตัวในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม 300 คนที่หลบหนีออกจากจีนและถูกจับกุมในปี 2014 บางคนถูกส่งกลับจีนและบางคนถูกส่งไปตุรกี ส่วนที่เหลือถูกควบคุมตัวอยู่ในไทย
นักการทูตและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการที่ไทยเนรเทศชาวอุยกูร์ 100 คนกลับจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 ซึ่งได้รับการประณามอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การวางระเบิดบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณที่มีผู้คนพลุกพล่านในอีกหนึ่งเดือนต่อมา คร่าชีวิตคนไป 20 ราย ซึ่งนับเป็นการโจมตีที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในแผ่นดินไทย และทางการไทยสรุปในขณะนั้นว่าการโจมตีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการปราบปรามกลุ่มค้ามนุษย์ แต่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่ากลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับชาวอุยกูร์
ก่อนหน้านี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการเนรเทศชาวอุยกูร์ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ประเด็นเช่นนี้ ไม่ว่าประเทศใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กระบวนการระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน”
สหรัฐประณามไทยขั้นสุด
นายมาร์โก รูบิโอ รมว.การต่างประเทศสหรัฐ โพสต์บนเว็บไซต์ X ว่า ประเทศไทยบังคับส่งตัวชาวอุยกูร์กลุ่มหนึ่งไปจีน ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของไทย เราสู้สึกวิตกกังวลกับการกระทำนี้ ซึ่งเสี่ยงขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ สหรัฐประณามการกระทำนี้ เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบและรับรองว่าชาวอุยกูร์ได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและสิทธิของพวกเขาได้รับการคุ้มครอง
สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเผยแพร่แถลงการณ์ กรณีไทยผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน โดยมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2025
แถลงการณ์ระบุว่า เราขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อกรณีที่ไทยผลักดันชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับประเทศจีน ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในประเทศที่ตนไม่มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ชาวอุยกูร์เคยถูกข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมาน
ในฐานะพันธมิตรอันยาวนานของไทย เรารู้สึกตระหนกกับการกระทำนี้ ซึ่งอาจขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมานานของชาวไทยในการปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เราเรียกร้องรัฐบาลของทุกประเทศที่ชาวอุยกูร์เข้าไปอาศัยความคุ้มครอง ให้ไม่ผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์กลับประเทศจีน
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า จีน ภายใต้การกำหนดทิศทางและการควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยส่วนใหญ่มุ่งไปที่ชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นมุสลิม ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนากลุ่มอื่นในซินเจียง เราขอให้ทางการจีนเปิดให้มีการตรวจสอบโดยถี่ถ้วนและสม่ำเสมอ เพื่อยืนยันถึงสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับ รัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้ทางการจีนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ รวมทั้งต้องพิสูจน์การดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกเสียงประณามจากชาติตะวันตกหลายชาติรวมถึงอังกฤษ ออสเตรเลีย
เดวิด แลมมี รมว.การต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า อังกฤษไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของไทยในการส่งตัวชาวอุยกูร์มุสลิม 40 คนกลับจีน ทั้ง ๆ ที่ไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการไม่ส่งตัวกลับและมีเอกสารที่ปรากฏว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในซินเจียงก็ตาม
เพนนี หว่อง รมว.การต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลีย “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” กับการตัดสินใจของไทยในการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนไปยังจีนโดยไม่สมัครใจ และยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เหล่านี้กับรัฐบาลจีน
นายกฯ มองส่ง ‘อุยกูร์’ กลับจีนไม่ได้ทำผิดหลัก
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ออกแถลงการณ์ประณามไทย กรณีส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยตรวจสอบแล้วว่าทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องอุยกูร์เป็นการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และติดคุกในไทยมา 10 กว่าปีแล้ว ถือว่าได้รับการลงโทษเป็นเวลานาน 11 ปีที่ผ่านมา เราจึงได้ตรวจสอบข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่ายังไม่มีประเทศที่สามขอรับชาวอุยกูร์กลับประเทศนั้น ๆ เลย ซึ่งเรื่องนี้จีนได้ติดต่อมาและมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นคนจีน
ฉะนั้นยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดกฎหลักสหประชาชาติหรือสิทธิมนุษยชน เพราะการที่ถูกกักขังมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ได้คุยกับทางการจีน และได้รับการยืนยันแล้วว่า หากเราส่งตัวอุยกูร์กลับไป พวกเขาจะไม่ถูกดำเนินคดีและไม่มีการสอบสวนใด ๆ รวมทั้งสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ทันที
ซึ่งเรื่องนี้ทั้งสองรัฐบาลก็ได้คุยกันมาสักพักแล้ว และการพบปะของผู้นำในหลาย ๆ ระดับ ก็ได้มีการยืนยันแล้ว ว่าทุกคนที่กลับไปจะปลอดภัย ซึ่งเราพยายามทำทุกอย่างให้ราบรื่นที่สุด และการที่พวกเขากลับไปสู่ครอบครัวก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้อนุญาตให้ทางการไทยเดินทางไปเยี่ยมหรือถามไถ่ได้ว่าอุยกูร์ที่กลับไปแล้ว มีความเป็นอยู่อย่างไรและมีชีวิตที่ดีหรือไม่ ซึ่งทางการจีนไม่ได้ปิดกั้นเรื่องนี้กับเราเลย
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า การส่งตัวอุยกูร์กลับไปไม่ใช่การแลกเปลี่ยนทางการค้าแต่อย่างใด เพราะการที่จะคุยเรื่องการค้า ก็เป็นเรื่องเฉพาะการค้า แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของคน ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับสินค้า คนไม่ใช่สินค้า ไม่แลกกันแน่นอน
ส่วนจะมีการชี้แจงสหรัฐอย่างไรบ้าง เพราะมีการออกแถลงการณ์ประณามไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราได้มีการอัพเดตข้อมูล ซึ่งทราบว่าหลายประเทศได้มีการติดตามข้อมูลมา ซึ่งข้อมูลที่อัพเดตล่าสุดก็ได้มีการประสานงานกันอย่างจริงจัง เราไม่ได้พูดกันเล่น ๆ
พร้อมยอมรับว่าเรื่องนี้ในตอนแรกไม่ได้พูดในที่สาธารณะ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงและรัฐบาล แต่ได้นำข้อความนี้ไปพูดคุยเพื่อยืนยันและรับรองถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลรับทราบและต้องการให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ หรือข้อขัดข้องระหว่างดำเนินการ ทำอะไรที่ไม่เคารพสิทธิของเขา เช่น การใช้ความรุนแรง เป็นต้น ก่อนยกตัวอย่างภาพที่ปรากฏว่า เมื่อเดินทางไปถึงประเทศจีนก็ได้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว โดยไม่มีกุญแจมือและโซ่ตรวน ฉะนั้นยืนยันว่าอุยกูร์ทั้งหมดเดินทางกลับประเทศจีนโดยสมัครใจแน่นอน
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรียังไม่ยืนยันการส่งตัวเมื่อวานนี้ เพราะต้องรอยืนยันความชัดเจนก่อนใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องของ protocal ว่าใครจะออกมาแถลง และทางจีนจะพูดก่อนหรือไม่ ซึ่งต้องดูด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะพูดในตอนนั้น ไม่เช่นนั้น ข้อความอาจจะถูกบิดเบือนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง วันนี้จึงได้ออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ ส่วนขั้นตอนทั้งหมด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนไปแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้ติดต่อกับความมั่นคงของจีน
ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าทางตุรกี จะรับชาวอุยกูร์กลับไป แต่สุดท้ายมีเหตุขัดข้องอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่มีประเทศที่สามมาเสนอตัวขอรับชาวอุยกูร์เลย ซึ่งไม่มีใครเสนอมาเลยสักคน ฉะนั้นทางการจีนยืนยันว่าเป็นคนจีน ประเทศไทยก็ต้องส่งกลับจีน นี่คือหลักการปฏิบัติปกติ
ส่วนในเรื่องดังกล่าวกังวลว่า จะกระทบความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุสลิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า จริง ๆ แล้วต้องอาศัยเวลาในการอธิบาย และต้องดูด้วยว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ พวกเขากลับไปแล้วปลอดภัยจริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเมื่อความปลอดภัยเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นเครื่องหมายที่สามารถอธิบายได้ ซึ่งได้ทำงานหลังบ้านแล้วว่าถ้าไม่มั่นใจก็จะไม่ส่งกลับไป
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันต่อว่า สื่อมวลชนของไทย สามารถเดินทางไปติดตามภายหลังที่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนได้ และในช่วงกลางเดือนมีนาคม พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเดินทางไปติดตามความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ที่ไทยได้ส่งกลับไปที่จีน