
รายงานข่าวอัพเดตตัวเลขผู้เสียชีวิตเมื่อ 1 เมษายน เวลา 09.15 น.
แผ่นดินไหวพม่า ตัวเลขทางการเผยยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 2,000 ราย รัฐบาลทหารเมียนมาขอนานาชาติช่วยเหลือ ภายหลังประกาศภาวะฉุกเฉินพื้นที่ใจกลางประเทศ ด้านผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจเกิน 10,000 ศพ
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) และรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำกองทัพเมียนมาและหัวหน้าสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อช่วยรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2,065 ราย จากเดิม 1,700 ราย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวผ่านไป 3 วัน สื่อของรัฐรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 2,065 ราย บาดเจ็บกว่า 3,900 ราย และสูญหายกว่า 270 ราย และรัฐบาลทหารได้ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (31 มีนาคม)
ด้านวอลล์สตรีทเจอร์นัลอ้างข้อมูลจากคณะรัฐประหาร รายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตในเมียนมาอยู่ที่ 2,028 ราย ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งรวมถึงสมาชิกที่เหลือของรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจในปี 2021 ระบุยอดผู้เสียชีวิตไว้ที่ 2,418 ราย ซึ่งสื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่ามีชาวจีน 3 รายรวมอยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิตด้วย
ก่อนหน้านี้ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย แจ้งยอดผู้เสียชีวิตกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ วันที่ 30 มีนาคมมียอดผู้เสียชีวิตราว 1,700 รายและบาดเจ็บกว่า 3,000 คนหลังจากได้กล่าวผ่านวิดีโอเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐว่า มีแนวโน้มว่ายอดผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจะเพิ่มขึ้น และขณะนี้ย้ำว่าทางโรงพยาบาลต้องการเลือดจำนวนมาก
มิน อ่อง ลายกล่าวอีกว่า อาคารบางพื้นที่พังถล่ม ดังนั้นการกู้ภัยจึงยังคงดำเนินต่อไปและในขณะที่เรากำลังดำเนินการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์อย่างเต็มที่ ผมต้องการขอความช่วยเหลือและพลตรีซอ มิน ตุน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ กล่าวว่าโรงพยาบาลของรัฐในเนปยีดอว์ มัณฑะเลย์ และสะกาย เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บ
พม่าได้ยอมรับความช่วยเหลือจากอินเดียและศูนย์ AHA (อาฮ่า เซ็นเตอร์) ซึ่งเป็นหน่วยงานของอาเซียนที่รับผิดชอบการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว
สถานทูตจีนระบุในโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่จากจีน 37 นายเดินทางถึงนครย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของเมียนมา เมื่อเช้าวันนี้ (29 มีนาคม) โดยขนยาและอุปกรณ์ตรวจหาสัญญาณชีพไปด้วย
รัสเซียกล่าวว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่มีประสบการณ์ 120 นาย รวมถึงแพทย์ และสุนัขค้นหา ตามที่สำนักข่าวทาสส์ (TASS) สื่อรัฐรายงาน
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปของอียูกล่าวว่า ยุโรปพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเมียนมาและไทย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ซึ่งมีกำหนดเยือนกรุงเทพในสัปดาห์หน้า ก็ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน โดยล่าสุดอินเดียยังได้ส่งทีมกู้ภัยไปช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซียก็ให้คำมั่นว่าจะจัดส่งทีมกู้ภัยเช่นกัน
ด้านโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาให้คำมั่นสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเมียนมา หลังจากรัฐบาลทหารเมียนมาร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ และบอกอีกว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวเลวร้ายอย่างมาก ทางสหรัฐได้หารือกับทางเมียนมาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐยืนยันต่อสภาคองเกรสที่จะปลดพนักงานของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (USAID) ที่เหลือเกือบทั้งหมด รวมถึงปิดสำนักงานฯ เพื่อลดรายจ่ายภาครัฐและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความพยายามในการช่วยเหลือและสร้างอาคาร สิ่งต่างๆขึ้นใหม่ในเมียนมาอาจมีความซับซ้อนเนื่องจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานในประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดลง ประเทศนี้อยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารตั้งแต่ปี 2021
เร่งช่วยติดใต้ซาก 90 คน


ยอดผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในมัณฑะเลย์ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งก่อนหน้านี้ รายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในเมืองอันดับสองแห่งนี้ของเมียนมาเพียงเมืองเดียวถึง 694 ราย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทำงานแข่งกับเวลาเร่งช่วยอีกกว่า 90 คนที่เชื่อว่าติดอยู่ใต้เศษซากคอนกรีตของ “สกาย วิลล่า” อพาร์ตเมนต์ 12 ชั้นที่ถล่มลงมาในมัณฑะเลย์ หลังจากสามารถดึงหญิงรายหนึ่งขึ้นมาได้แล้วเมื่อเหตุอาคารถล่มผ่านไปแล้ว 30 ชั่วโมง รายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ช่วยคนจากตึกได้รวม 29 คน
รัฐบาลทหารเมียนมาแถลงด้วยว่า มีอาคารกว่า 1,500 หลังได้รับความเสียหายในเมืองมัณฑะเลย์ และไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ซึ่งทางการระบุว่าต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะจ่ายไฟได้อีกครั้ง
ขณะนี้เมียนมาขาดแคลนเสบียงทางการแพทย์รวมถึงชุดปฐมพยาบาล ถุงเลือด ยาสลบ ยาจำเป็นและขาดแคลนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หลายพันคน

สถานที่ทางประวัติศาสตร์กว่า 80 แห่ง รวมถึงเจดีย์ วัดพุทธ อาราม และมัสยิด ถูกทำลายในเมืองมัณฑะเลย์ สะกาย เนปยีดอว์ และพะโค รวมถึงรัฐฉาน จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ตามรายงานของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) รายงานว่าแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม วัดได้ 7.7 แมกนิจูด โดยแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมืองสะกาย ประเทศเมียนมาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 16 กิโลเมตร ความลึก 10 กิโลเมตร และระบุอีกว่าเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สองขนาด 6.4 แมกนิจูดขึ้นในบริเวณเดียวกัน
ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่โจมตีมียนมาในรอบกว่าศตวรรษ โดยแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่มีขนาดใกล้เคียงกันเกิดขึ้นในปี 1912 ที่เมืองตองยี ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา

กลิ่นศพคลุ้งในมัณฑะเลย์-ผวาอาฟเตอร์ช็อก
กลิ่นศพคลุ้งทั่วท้องถนนในมัณฑะเลย์ ขณะที่คนทำงานกันอย่างบ้าคลั่งเพื่อเคลียร์เศษซากหักพังด้วยความหวังว่าจะพบผู้รอดชีวิต สองวันหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,600 ราย และยังมีอีกนับไม่ถ้วนที่ฝังอยู่ใต้ดิน
เอพีรายงานว่า เมื่อช่วยบ่ายวันที่ 30 มีนาคม เกิดอาฟเตอร์ช็อกล่าสุด ความรุนแรงระดับ 5.1 แมกนิจูดใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ถือเป็นแผ่นดินไหวต่อเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ระดับ 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ชาวบ้านที่พักค้างคืนบนถนนหวาดผวาร้องเสียงหลงด้วยความตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานความเสียหายเพิ่มเติม
บ้านในทะลสาบอินเลพังราบ
เพจ Khao Shan State รายงานว่า หมู่บ้านในทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ตั้งอยู่ชานเมืองหลวงไทใหญ่ในเมืองตองจี รัฐฉานใต้ มีประชาชนเสียชีวิต 33 ราย บ้านเรือนเสียหายมากกว่า 80% (คลิกดูภาพวิถีชีวิตในทะเลสาบอินเล ก่อนเกิดแผ่นดินไหว 7.7 แมกนิจูด เมื่อ 28 มีนาคม 2025 )


ประกาศภาวะฉุกเฉิน
สะพานและอาคารหลายแห่งพังถล่มในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่ารอยแตกและการบิดเบี้ยวของพื้นผิวถนนทางหลวงสายหลักที่เชื่อมระหว่างย่างกุ้ง กรุงเนปยีดอว์และมัณฑะเลย์ทำให้การสัญจรหยุดชะงักอย่างรุนแรง และตามรายงานของเดอะ โกลบอล นิวไลต์ ออฟเมียนมา (The Global New Light of Myanmar) สื่อรัฐระบุว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของเมียนมา ซึ่งกุมอำนาจบริหารที่แท้จริงกล่าวว่า มีการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 พื้นที่เพื่อรับมือเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ได้แก่ ภูมิภาคสะกาย มัณฑะเลย์ พะโค มะเกว กรุงเนปยีดอว์ และ รัฐฉาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ


ก่อนหน้านี้ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่ากระทรวงต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยในนครย่างกุ้งว่า รัฐบาลเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมาเป็นวงกว้าง และอาจมีแผ่นดินไหวต่อเนื่องหรืออาฟเตอร์ช็อกขนาด 6-7 แมกนิจูด ภายใน 2-3 วันนี้ และระดับ 4-5 แมกนิจูด ใน 7 วันนี้
สถานทูตจึงขอให้คนไทยในเมียนมาเตรียมอุปกรณ์ยังชีพฉุกเฉินสำหรับ 3 วัน รวมถึงมีเอกสารสำคัญและเงินสดติดตัวด้วย และขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารของสถานทูตและทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิด โดยคนไทยที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อหมายเลขฉุกเฉินของสถานทูต +95 9880916795 หรือเพจเฟซบุ๊กของสถานทูต Royal Thai Embassy, Yangon
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามกระทรวงการต่างประเทศล่าสุด ทราบว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 31 มีนาคม
ขาดแคลนเครื่องมือหนัก ชาวบ้านใช้มือขุดเป็นหลัก
หนึ่งในอุปสรรคในภารกิจกู้ภัยและช่วยชีวิตที่สำคัญคือการขาดแคลนเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ชาวบ้านต้องใช้มือเปล่าขุดเศษหินดินสกปรกและเคลื่อนย้ายเศษซากคอนกรีตที่ทับถมเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต

เมียนมาไม่มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะรับมือกับผลพวงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติดังกล่าว ประเทศต้องจมอยู่กับสงครามกลางเมืองนองเลือดตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหายอย่างหนักและทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในประเทศตัวเอง
“มีเศษซากมากเกินไป และไม่มีทีมกู้ภัยมาช่วยเหลือเราเลย” ฮเต็ต มิน อู ผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหววัย 25 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดแห่งหนึ่ง
การค้นหาผู้รอดชีวิตดำเนินการโดยชาวบ้านในพื้นที่เป็นหลัก โดยไม่ใช้อุปกรณ์หนักในการเคลื่อนย้ายเศษซาก ชาวบ้านใช้มือและพลั่วท่ามกลางอากาศร้อนที่อุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส โดยเห็นเพียงรถขุดตีนตะขาบเป็นครั้งคราวเท่านั้น
คาดยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 10,000 ศพ
บิล แม็กไกวร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านธรณีฟิสิกส์และอันตรายจากสภาพอากาศจากยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอนกล่าวว่า มีแนวโน้มสูงมากที่คุณภาพการก่อสร้างจะไม่สูงพอที่จะทนต่อแรงสั่นสะเทือนระดับนี้ และจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อทราบขนาดของภัยพิบัติมากขึ้น พร้อมเสริมว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งทอดยาวจากเหนือไปใต้ใกล้กับศูนย์กลางเมืองที่มีประชากรขนาดใหญ่
เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตยังไม่ชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอาจสูงเกินปกติ เนื่องจากมีประชากรหนาแน่นและโครงสร้างอาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างที่เปราะบางอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งอยู่นอกเขตเมืองมัณฑะเลย์ไปไม่ไกล และเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมาที่มีประชากรราว 1.59 ล้านคน โดยแบบจำลองของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ประมาณการว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจสูงเกิน 10,000 ราย และมีความเป็นไปได้สูงที่ยอดผู้เสียชีวิตจะสูงกว่านี้มาก

เทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ 334 ลูก
นักธรณีวิทยาเผยกับซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่าแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดที่ถล่มเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดพลังงานเทียบเท่ากับแรงจากระเบิดปรมาณูมากกว่า 300 ลูก โดยเตือนว่าอาฟเตอร์ช็อกจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป
“แรงที่แผ่นดินไหวลักษณะนี้ปล่อยออกมามีประมาณเท่ากับระเบิดปรมาณู 334 ลูก” เจส ฟีนิกซ์ กล่าวและยังเตือนด้วยว่าอาฟเตอร์ช็อกอาจกินเวลานานสองสามเดือน เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียยังคงชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียใต้ประเทศเมียนมา
ฟีนิกซ์กล่าวเสริมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในเมียนมาจะยิ่งเลวร้ายลงจากสงครามกลางเมืองของประเทศ
การโจมตีทางอากาศยังไม่หยุด
แผ่นดินไหวเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมา ซึ่งจากข้อมูลทราบว่า กองทัพเมียนมายังคงโจมตีทางอากาศต่อไปในหลายพื้นที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ปีกทางการทหารของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ระบุว่า ยังมีการโจมตีทางอากาศในตำบลชางอูในภูมิภาคสะกาย ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
กลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของฝ่ายต่อต้าน (Free Burma Rangers) ระบุว่าตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวมีการโจมตีทางอากาศในรัฐฉานและรัฐกะเรนนีรวม 3 ครั้ง
ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษในประเด็นสิทธิมนุษยชนเมียนมาของสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลทหารหยุดทิ้งระเบิดทางอากาศและหยุดปฏิบัติการทางทหารใดๆก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่อุกอาจและไม่สามารถยอมรับได้
ด้าน NUG ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจออกแถลงการณ์ระบุว่า จะเริ่มหยุดโจมตีตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคมนี้ เป็นเวลาสองสัปดาห์ ยกเว้นเป็นการโจมตีเพื่อป้องกันตัวเองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว