ถอดบทเรียนนานาชาติงัดมาตรการรับมือมลพิษ

AFP PHOTO / DOMINIQUE FAGET

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กรวมถึงสภาพอากาศเป็นพิษเป็นสิ่งที่ปกคลุมอยู่ทั่วในหลายเมืองใหญ่ของหลายประเทศ แม้แต่ “อังกฤษ” หนึ่งในประเทศที่ถือได้ว่าใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในยุโรปก็เพิ่งยอมรับว่ากำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ และเตรียมที่จะออกมาตรการจัดการอย่างจริงจัง

โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลลอนดอนประกาศแผน “Clean Air Strategy” โดยมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคการเกษตรก่อน เนื่องจากในภาคการเกษตรมีการปล่อยก๊าซแอมโมเนียที่ส่งผลต่อสภาพอากาศมากถึง 88% ต่อปี โดยรัฐบาลของประเทศอังกฤษจะมีการช่วยเหลือเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซแอมโมเนียอย่างถูกวิธี

(AP Photo/Lee Jin-man)

เช่นกันกับ “กรุงปารีส” เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสที่กำลังเผชิญความรุนแรงทางอากาศเช่นกัน โดยตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมด้วยการคัดกรองรถยนต์ที่เข้ามาวิ่งบนถนนในกรุงปารีสว่าต้องมีมาตรฐานตามที่รัฐบาลกำหนด โดยให้ผู้ใช้รถยนต์ทุกคันต้องติดสติกเกอร์ “Crit Air” ที่หน้ารถ เพื่อระบุอายุการใช้งานรถและระดับมลพิษที่ปล่อยออกมาว่าปลอดภัยสำหรับคนเมือง รวมถึงมีการกำหนดให้รถยนต์ที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขคู่ และเลขคี่ ให้ใช้รถได้ตามวันคู่และวันคี่เท่านั้น เพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งตามท้องถนน นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งให้งดใช้รถในบางจุดเสี่ยงระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. และใช้บริการรถสาธารณะฟรี

สำหรับ “กรุงสตอกโฮล์ม” เมืองหลวงของประเทศสวีเดนที่เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศเมื่อต้นปี 2018 แม้เป็นเพียงระดับเบื้องต้น และยังไม่รุนแรงต่อร่างกาย แต่รัฐบาลออกมาประกาศทันทีว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่ต้องการเข้าไปในเมืองหลวง อีกทั้งได้เคลียร์พื้นที่สำหรับให้จอดรถตามจุดขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

(AP Photo/Lee Jin-man)

ในอีกหลายประเทศในเอเชียก็กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่นกัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับความรุนแรงใน “กรุงโซล” ของเกาหลีใต้ ติดอันดับ 4 ของเมืองที่มีอากาศเลวร้ายทำให้ขณะนี้รัฐบาลโสมขาวออกมาตรการสั่งให้ลดชั่วโมงการผลิตในโรงงานเกือบ 100 แห่ง และคาดว่าจะลดชั่วโมงการทำงานลงราว 3-4 ชั่วโมง ทั้งยังประกาศให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีอย่างไม่มีกำหนด

นอกจากนี้ ยังสั่งให้โรงไฟฟ้าหลายแห่งจำกัดการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 80% จาก 100% และสั่งระงับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 8 แห่งชั่วคราว และพิจารณาปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่าอย่างถาวรในปี 2020

สำหรับประเทศ “อินเดีย” มีหลายเมืองติดอันดับเมืองที่มีอากาศสกปรกที่สุดในโลก ได้แก่ นิวเดลี, มุมไบ, โกลกาตา และเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายรุนแรงตั้งแต่ปี 2018 โดยรัฐบาลยังใช้มาตรการควบคุมแบบเดิม เช่น ห้ามรถยนต์ และแท็กซี่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลหลายพันคันวิ่งบนถนนที่มีอากาศย่ำแย่ นอกจากนี้ ยังห้ามรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ขึ้นไปวิ่งตามท้องถนน โดยเฉพาะในเมืองหลวงนิวเดลี รวมถึงสั่งให้รถยนต์วิ่งตามวันคี่ และวันคู่ตามเลขทะเบียนรถอย่างไม่มีกำหนด

(AP Photo/Manish Swarup)

สำหรับประเทศจีน ซึ่งประสบปัญหาสภาพอากาศเป็นพิษมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน มีระดับรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลจีนสั่งมาตรการเด็ดขาดปิดโรงงานจีนไปแล้ว 40% ของโรงงานทั้งหมดทั่วประเทศหรือราว 80,000 แห่ง ที่ทำผิดกฎหมายและมีการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายเกินกำหนด ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเหล็ก, อิฐ, ซีเมนต์ และอะลูมิเนียม

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ว่าการมณฑลเหอเป่ย์ประกาศลดกำลังการผลิตเหล็กลง 12.3 ล้านตัน ลดการผลิตถ่านหิน 14 ล้านตัน และลดการผลิตปูนซีเมนต์ 3.13 ล้านตัน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้จัดตั้งทีมตระเวนเรียกว่า “ตำรวจสิ่งแวดล้อม” เพื่อควบคุมและลงโทษประชาชนที่ทำผิดกฎ เช่น ปิ้งย่างอาหารในที่กลางแจ้ง ขายอาหารปิ้งย่างในที่กลางแจ้ง และใช้รถยนต์เก่ามาวิ่งตามท้องถนน ซึ่งปีที่ผ่านมา จีนทำลายรถเก่าไปแล้ว 300,000 คันทั่วประเทศ

(AP Photo/Ahn Young-joon)
AFP PHOTO / Sajjad HUSSAIN
(AP Photo/Sakchai Lalit)

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!