การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ ทั่วโลกต่างคาดหวังว่าข้อพิพาทระหว่างสองมหาอำนาจจะคลี่คลายลง แต่การทบทวนโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของแต่ละประเทศอีกครั้งหลังสหรัฐยกเลิกสิทธิดังกล่าวกับ “อินเดีย” และ “ตุรกี” เมื่อสัปดาห์ก่อนกำลังถูกจับตามองด้วยความเป็นห่วง
นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) แถลงเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า GSP สำหรับประเทศอินเดีย และตุรกี ซึ่งจะมีผลการพิจารณาภายใน 60 วัน โดยระบุว่าทั้งสองชาติไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิอีกต่อไป เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและตุรกีที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง
อีกหนึ่งปัจจัยเป็นผลจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า อินเดียไม่ยอมให้ธุรกิจสหรัฐเข้าถึงตลาดตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งยังกีดกันทางการค้าต่อธุรกิจอเมริกา โดยเฉพาะกับผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ จนทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น
“อินเดีย” ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก GSP สูงสุดในเอเชียมีมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐอย่างปลอดภาษีที่ 5,600 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ “ตุรกี” มีมูลค่าสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์
ที่น่าสนใจคือ “ไทย” และ “อินโดนีเซีย” จะเข้าข่ายติดอยู่ในลิสต์รายชื่อประเทศที่สหรัฐจะยกเลิกให้สิทธิพิเศษ GSP หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ USTR ได้รับคำสั่งให้ทบทวนการให้สิทธิต่อหลายประเทศ ตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีก่อน ขณะที่ผู้ประกอบการอเมริกันหลายรายเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเข้าถึงตลาดนมในอินโดนีเซีย และเข้าถึงสินค้าเนื้อหมูในตลาดไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐเป็นมูลค่ากว่า 4,200 ล้านดอลลาร์ (เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย) และอินโดนีเซีย มีมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP 2,000 ล้านดอลลาร์ (อันดับ 4 ในเอเชีย) ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าตุรกี อย่างไรก็ตาม ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทนของอินโดนีเซียได้เดินทางไปวอชิงตันแล้ว เพื่อเจรจากับสหรัฐและร่วมแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า-ลงทุนของสหรัฐในอินโดนีเซีย และคาดว่าจะเดินทางไปเจรจากรณีดังกล่าวที่วอชิงตันอีกครั้งกลางปีนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายังจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า
สำหรับ “ประเทศไทย” เคยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ 11 รายการ จากสินค้าที่ครอบคลุมทั้งหมด 3,500 รายการ ขณะเดียวกัน สื่อของอเมริกันรายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดของ USTR ระบุว่า บราซิล ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ เป็นอีกกลุ่มประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนฟิลิปปินส์ และปากีสถาน ติดโผมีการส่งออกไปยังสหรัฐคิดเป็นมูลค่าเกินเพดานที่กำหนด นักวิเคราะห์จึงมองว่า หากไทยและอินโดนีเซีย ถูกตัดสิทธิ GSP เป็นไปได้ว่าประเทศเหล่านี้จะถูกทบทวน GSP เป็นรายต่อไป
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!