ญี่ปุ่นวิกฤต “แรงงาน” เซเว่นฯแก้เกมไม่เปิด 24 ชม.

ปี 2018 อัตราการเกิดใน “ญี่ปุ่น” ลดลงติดต่อกัน 37 ปี ขณะที่จำนวนของผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ วิกฤตขาดแคลนแรงงานกำลังลุกลามเป็นแผลเรื้อรัง กระทบต่อภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก “เจแปนไทมส์” รายงานว่า นับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2019 “เซเว่นอีเลฟเวน” หรือ “7-11” ร้านค้าสะดวกซื้อเจ้าตลาดในญี่ปุ่น มีสาขามากกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ประกาศเริ่มทดลองลดเวลาเปิดให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 16 ชั่วโมง โดยจะทดลองกับ 10 สาขาใน 8 จังหวัด ได้แก่ โตเกียว, มิยางิ, โทจิงิ, ชิบะ, ไอจิ, เฮียวโงะ, ฟูกูโอกะ และจังหวัดคูมาโมโตะ ส่วนระยะเวลาทำการจะเปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00-23.00 น.

นายคาซุกิ ฟุรุยะ ประธานบริษัท Seven-Eleven Japan กล่าวว่า แผนการทดลองลดเวลาให้บริการสอดรับกับคำเรียกร้องของบรรดาเจ้าของแฟรนไชส์ที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัท Seven and I Holdings จะทำหน้าที่พิจารณาเพื่อตรวจสอบผลลัพธ์ตั้งแต่ยอดขาย จำนวนลูกค้า และด้านโลจิสติกส์

“หากแผนทดลองไปในทิศทางบวก เป็นไปได้ที่อาจนำแผนการนี้ไปใช้สาขาอื่น ๆ ในญี่ปุ่น รวมถึงจะเป็นโมเดลในการนำไปปรับใช้สำหรับ 7-11 สาขาต่างประเทศ ที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นเดียวกัน”

หนึ่งในเจ้าของแฟรนไชส์ 7-11 ในเขตอาดาจิ มหานครโตเกียว กล่าวถึงนโยบายเปิดรับ “แรงงานต่างชาติทักษะต่ำ” ของรัฐบาลญี่ปุ่น ว่าเป็นแผนแก้ไขที่ช้าเกินไป เพราะญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมานานแล้ว ทั้งระบุว่าเงื่อนไขในการรับพิจารณาแรงงานยังมีหลายขั้นตอน โดยเฉพาะเงื่อนไขด้าน “ภาษาญี่ปุ่นระดับ 2” แทนที่จะเป็นภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น

“ทาคายูกิ คูราบายาชิ” นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมค้าปลีก จากสถาบันวิจัยโนมูระ กล่าวว่า โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การแข่งขันอย่างดุเดือดของเจ้าตลาด ได้แก่ อาลีบาบา กรุ๊ป และอเมซอน ที่ครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก คำถามก็คือดีมานด์ของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง มีความจำเป็นมากแค่ไหน โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังประสบปัญหาจำนวนผู้สูงอายุขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากเทียบกับญี่ปุ่นในยุคเฟื่องฟูปี 1970 คอนวีเนี่ยนสโตร์เติบโตได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานกะดึกในญี่ปุ่นมีจำนวนสูงมาก

สำหรับ “รอย ลาร์ค” นักวิเคราะห์ในวงการค้าปลีก และบรรณาธิการของ Japan Consuming ระบุว่า บางครั้งผมรู้สึกว่าธุรกิจในญี่ปุ่นรวมถึงธุรกิจค้าปลีก มักออกนโยบายบริษัทที่สวนทางกับวิถี “work-life balance” นั่นคือ ความสมดุลในชีวิตและการทำงาน เห็นได้จากเหตุการณ์ “ฆ่าตัวตาย” เพราะเครียดหนักจากการทำงาน ดังนั้น “ร้านค้าสะดวกซื้อ” ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะได้รับความไม่สะดวกจากการปรับกลยุทธ์เล็กน้อย และไม่ใช่แค่ 7-11 เพราะทั้งลอว์สัน และแฟมิลี่มาร์ท ก็ได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน และนอกจากทดลองลดเวลาเปิดบริการแล้ว ขณะเดียวกัน 7-11 ก็กำลังพัฒนาระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทดแทนแรงงานคนในกระบวนการเช็กสต๊อกไปจนถึงเช็กเอาต์สินค้าด้วย