บรมราชโองการ “จักรพรรดิญี่ปุ่น” ครองบัลลังก์ในกรอบรัฐธรรมนูญ

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับพระราชพิธีสละราชสมบัติของ “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” แห่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่รัชสมัยเฮเซของพระองค์ได้สิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืนของวันดังกล่าว และก้าวเข้าสู่รัชสมัยใหม่คือ “รัชสมัยเรวะ” อย่างเป็นทางการ

วันที่ 1 พ.ค. 62 ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ” โดยพระราชพิธีเบื้องต้นเริ่มขึ้นในเวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ท้องพระโรงต้นสน พระราชวังอิมพีเรียล เป็นพระราชพิธีทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ญี่ปุ่น อันประกอบด้วย พระแสงดาบคุซานางิ อัญมณียาซากานิ และ พระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระราชพิธีดังกล่าวใช้เวลาเพียง 10 นาที ท่ามกลางผู้เข้าร่วมพระราชพิธี คือ พระบรมวงศานุวงศ์บุรุษ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ และคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้พระราชวงศ์สตรีทุกพระองค์ รวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ เข้าร่วมในพระราชพิธีด้วยตามโบราณราชประเพณีของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับนางซัตซูกิ กาตายามะ รัฐมนตรีหญิงหนึ่งเดียวของญี่ปุ่นที่สามารถเข้าร่วมพระราชพิธีครั้งนี้ได้

ในเวลาต่อมา “สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ” ทรงเสด็จออก ณ ท้องพระโรงต้นสนอีกครั้ง พร้อมสมาชิกพระราชวงศ์ ในการนี้ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าบรรดาข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีใจความดังนี้ว่า

“ข้าพเจ้าได้ครองราชบัลลังก์ตามรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น และกฎมณเฑียรบาลราชวงค์อิมพีเรียล ข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นเมื่อคาดคำนึงถึงความรับผิดชอบสำคัญของข้าพเจ้าในครั้งนี้”

“โดยมองย้อนกลับไป สมเด็จพระจักรพรรดิที่ทรงสละราชสมบัติไปเมื่อขึ้นครองราชบัลลังก์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจของพระองค์อย่างมุ่งมั่น มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ทรงภาวนาเพื่อสันติภาพและความสงบสุขของผู้คน ทุกครั้งที่มีการแบ่งปันความสุขและความทุกข์ของประชาชน พระองค์ได้ทรงแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งที่พวกเขาแบกรับ ข้าพเจ้าขอแสดงความเคารพและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์เก่า ที่ทรงแสดงออกในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศและความศูนย์รวมใจของประชาชน”

“ในการครองราชย์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอให้สัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะเรียนรู้พระราชกรณียกิจตามรอยสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์เก่า และดำเนินรอยตามพระองค์ในการอุทิศตนเพื่อการพัฒนาตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าขอให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนชาวญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงและยืนอยู่เคียงข้างพวกเขา ข้าพเจ้าขอภาวนาเพื่อความสุขของประชาชน เพื่อการเดินหน้าของประเทศชาติ และเพื่อสันติภาพของโลก”

ทั้งนี้ หลังจากจบพระราชดำรัส นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะเป็นผู้แทนประชาชนชาวญี่ปุ่นกล่าวถวายพระพรชัยมงคล เป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธี