คนไร้บ้าน ปัญหาใต้พรม “ญี่ปุ่น”

A homeless man looks on from a sidewalk in Tokyo's Ginza district on April 5, 2019. (Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

จากกรณีกระแสความไม่พอใจและโจมตีรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างหนักในทวิตเตอร์เมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ในกรณีคนไร้บ้าน 2 ราย ที่ถูกปฏิเสธให้เข้าไปหลบภัยในศูนย์พักพิงเขตไทโตะ ท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสที่กำลังถล่มอย่างหนัก ทำให้ประเด็นปัญหา “คนไร้บ้าน” (homeless) ในญี่ปุ่นถูกหยิบยกและขุดคุ้ยขึ้นมา

กระทั่งนายกรัฐมนตรี “ชินโสะ อาเบะ” ของญี่ปุ่นแถลงเกี่ยวกับปัญหาคนไร้บ้านว่าจะหามาตรการช่วยอย่างเท่าเทียม และเสนองบ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงช่วยเหลือคนไร้บ้าน

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศพัฒนาที่มีเทคโนโลยีที่โดดเด่น ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะสูงเช่นกัน และปัญหา “คนไร้บ้าน” ในญี่ปุ่นก็ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาใต้พรมของรัฐบาลญี่ปุ่นมานาน นับตั้งแต่ที่นายชินโสะ อาเบะ เข้านั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2012

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อเดือน ก.ค. 2019 ระบุว่า ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนคนไร้บ้านราว 4,977 คน ลดลงจาก 5,534 คนในปี 2018 ขณะที่ศูนย์วิจัยเพื่อการไร้ที่อยู่อาศัยในกรุงโตเกียว ศึกษาร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรโตเกียว (NGO) ระบุว่า ตัวเลขสถิติของรัฐบาลไม่เป็นความจริง เพราะเก็บข้อมูลจากจำนวนคนไร้บ้านบริเวณสถานีรถไฟ และพื้นที่รอบ ๆ แม่น้ำเท่านั้น ตัวเลขผู้ไร้บ้านแท้จริง มีเกือบ 3 เท่าของตัวเลขสถิติของรัฐบาล เพราะมีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ในรูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น อาศัยอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ สถานีรถไฟใต้ดิน สวนสาธารณะขนาดเล็ก และตามลานจอดรถในห้างสรรพสินค้า ทั้งพบว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะไม่มีรายได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้าน และไม่มีครอบครัวหรือไม่ได้แต่งงาน ซึ่งคนไร้บ้านในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีรายได้เพียงเล็กน้อยจากการเก็บกระป๋องอะลูมิเนียม ขวดพลาสติก หนังสือและนิตยสารเก่าเพื่อนำไปขายต่อ โดยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000-30,000 เยน/เดือน

“ยูโกะ คาโตะ” นักวิจัยของศูนย์วิจัยเพื่อการไร้ที่อยู่อาศัยในโตเกียว กล่าวว่า แม้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสวัสดิการรัฐช่วยเหลือประชาชนที่ดีมากแห่งหนึ่งของโลก แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ขณะเดียวกัน รายได้ของภาครัฐก็ลดน้อยลงจากภาวะเงินฝืดเรื้อรัง ทำให้สวัสดิการต่าง ๆ ไม่ครอบคลุมประชาชนในทุกระดับ รวมถึงกลุ่มคนสูงอายุที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ติดต่อกันมากกว่าหนึ่งทศวรรษ

ศูนย์วิจัยดังกล่าวยังระบุว่า ในปี 2018 คนญี่ปุ่นที่ “ยากจน” มีมากขึ้นถึง 20 ล้านคนจากประชากรกว่า 120 ล้านคน หรือทุก ๆ 1 ใน 6 คนญี่ปุ่นมีฐานะยากจน โดยคนที่ถูกจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ความยากจน วัดจากการมีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยประชากร นายคาโตะชี้ว่า สาเหตุความยากจนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาตกงาน และมีรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะธุรกิจปิดตัว ผลกระทบต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี และหลายบริษัทปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นลักษณะการจ้างพนักงานชั่วคราวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน “ญี่ปุ่น” ถูกจัดอันดับมีค่าครองชีพสูงติด top 10 ของโลก เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ตามการจัดอันดับของ Economist Intelligence Unit (EIU)

นอกจากนี้ นายอาซาฮิ ชิมบุน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย องค์กร NGO ในนครโอซากา กล่าวกับบีบีซีว่า คนไร้บ้านในญี่ปุ่นกำลังเป็นปัญหารุนแรงขึ้น โดยในปี 2010 คนไร้บ้านในญี่ปุ่นเคยมีจำนวนต่ำกว่า 4,000 คน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,200 คน ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เข้าบริหารประเทศได้ 2 ปี และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหรือมองว่าเป็นวาระสำคัญของประเทศ

“ญี่ปุ่น” มีปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยมานาน ขณะเดียวกัน ยังเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 253% สูงที่สุดเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ตามรายงาน World Population Review ปี 2019

นายชิมบุนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณใหม่ของญี่ปุ่นที่เริ่มเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งงบประมาณแตะระดับ 100 ล้านล้านเยน (890,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่เกือบ 1 ใน 3 ถูกนำไปใช้ชำระหนี้ และอีกส่วนเป็นการนำไปลงทุนในโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่่อเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์-พาราลิมปิกเกมส์ 2020” ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากโดยคาดหวังว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแดนปลาดิบ อาทิ โครงการสร้างรางรถไฟสายใหม่ เชื่อมระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว และท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ซึ่งมาสิ้นสุดที่สถานีรถไฟโตเกียวเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณสวัสดิการเพื่อรองรับประชากรผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ และปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นที่ปะทุให้เห็นชัดมากขึ้น